นึกว่าแกนวาร์ป! เมืองในลิทัวเนียและโปแลนด์เปิดตัว “เดอะ พอร์ทัล” มองเห็นกัน สื่อสารกันได้แบบสดๆผ่านหน้าจอกลางเมือง
แกนวาร์ป หรือประตูต่างมิติ อาจจะดูไม่ได้เป็นของใหม่สำหรับคอหนัง Sci-Fi หรือเหล่าแฟนอนิเมะ แต่สำหรับในชีวิตจริงเรื่องดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่มุมมองของใครหลายๆคนคอนเซปท์ของเรื่องดังกล่าวอาจไม่ได้มีสาระสำคัญที่หมายถึงการเคลื่อนย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในแบบฉับพลันเสมอไป เช่นเดียวทีมงานผู้พัฒนาโครงการ “The Portal” ในเมืองวิลนิอุส (Vilnius) ในประเทศลิทัวเนีย และเมืองลูบลิน (Lubin) ของโปแลนด์ ที่มองว่าสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นการสะท้อนถึงภาพการเชื่อมต่อกันทางวัฒนธรรมของทั้งสองเมือง ที่ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาก่อน
Source: https://www.air.tv/watch?v=van34DAzQGatby_ayzHpmg
เมืองวิลนิอุส และลูบลิน คือสองเมืองใหญ่ที่ครั้งนึงได้มีความเกี่ยวพันกันทางประวัติศาสตร์ร่วมกันจนถึงขนาดที่ว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเดี่ยวที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปในช่วงปี ค.ศ. 1569 ภายใต้ชื่อว่า “The Polish–Lithuanian Commonwealth – เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย” ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศโปแลนด์ – ลิทัวเนีย – เบลารุส – แลตเวีย และพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครน เอสโตเทีย และบางส่วนของรัสเซียในปัจจุบัน ก่อนที่จะล่มสลายไปในช่วงค.ศ. 1791 ได้ถูกเลือกให้เป็น 2 เมืองแห่งแรกในการพัฒนาโปรเจค “The Portal” โครงการเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์ในการที่จะทำให้ผู้คนทั่วโลกเชื่อมต่อกันโดยปราศจากการแบ่งแยกทางสังคม และมองโลกเป็นหนึ่งเดียว โดย Benediktas Gylys หนึ่งในผู้พัฒนาโครงการมองว่าโลกในปัจจุบันนั้นสุ่มเสี่ยงมากเหลือเกินต่อการเกิดมหันตภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไป และปรากฎการณ์โพลาไรเซชั่น ซึ่งมาจากการขาดความเข้าใจที่มากพอเกี่ยวกับโลกในหมู่ผู้คนส่วนใหญ่ ดังนั้นโครงการ The Portal จึงเกิดขึ้นเพื่อรวมใจชาวโลกเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านวัตถุรูปทรงกลมที่เป็นสัญลักษณ์ของวงล้อแห่งกาลเวลา และมีแผงหน้าจอที่ทำหน้าที่ในการสะท้อนเรื่องราวความเป็นไปของชาวเมืองวิลนิอุส และลูบลิน ในแบบเรียลไทม์ โดยตัวหน้าจอนี้จะตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟเมืองวิลนิอุส และที่ย่าน Plac Litewski ในเมืองลูบลิน
Image credits: Vilnius Tech Linkmenų fabrikas