ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยของไทย ยังเหนื่อย
ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในหมวดที่อยู่อาศัยของไทย เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างหลากหลาย อาทิ ปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ส่งผลให้สู่อุปสงค์ภาคการก่อสร้างที่ลดลง เกิดการทุ่มตลาดสินค้า เช่น เหล็ก ไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางส่วนต้องปิดกิจการไป อีกทั้งยังมีปัจจัยภายในประเทศที่กดดันภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ระดับร้อยละ 89.6 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาทพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย โดยข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นนัยต่อทิศทางจำนวนประชากรที่จะไม่เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนในอดีต
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ยังระบุอีกว่า ณ ครึ่งแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย. 67) จำนวนใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศลดลงร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยหากพิจารณาจากจำนวนหน่วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุดที่ร้อยละ 67.1 ตามมาด้วยภาคใต้ลดลงร้อยละ 36.5 ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลลดลงร้อยละ 5.1 ทั้งนี้พื้นที่อนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงในทุกภาค โดยมีกรุงเทพฯ-ปริมณฑลลดลงมากสุดที่ร้อยละ 24.8
นอกจากนี้ ผลสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ในไตรมาส 2 ปี 2567 ระบุว่า เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย คือ ความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ขณะที่การลงทุนเพื่อปล่อยเช่ามีสัดส่วนร้อยละ 18 โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 49 และผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001-30,000 บาท สูงถึงร้อยละ 35 ซึ่งแสดงถึงความต้องการที่อยู่อาศัยของประชากรวัยทำงาน แต่อาจยังไม่สามารถซื้อได้ เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้น