“LWS” ชี้ 6X6 แนวทางการพัฒนาโครงการและบริการในคอนโดฯ เพื่อสัตว์เลี้ยง
“แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น” ระบุ 6 แนวทางที่ต้องมีในการพัฒนาและ 6 บริการที่ควรมีสำหรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมเพื่อสัตว์เลี้ยง ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ระบุถึงแนวโน้มการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมในปัจจุบันว่า ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมที่สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ (Pet Friendly Condominium) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจของ “LWS” พบว่าในปี 2565 มีโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งสิ้น 5,663 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4,394% จากจำนวน 157 ยูนิต ในปี 2561 สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในแบบ “pet humanization” หรือที่เรียกว่า พฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก หรือเป็นสมาชิกของครอบครัว จากการคาดการณ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้การพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลการสำรวจของ “LWS” ระหว่างวันที่ 1-20 สิงหาคม 2566 โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 180 คน เกี่ยวกับอาคารชุดพักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ พบว่า ผู้ซื้อให้ความสำคัญกับรูปแบบของโครงการและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการใน 6 ประเด็นได้แก่
1.โครงการควรมีพื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง: ภายในโครงการควรมีพื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่เพียงพอให้สัตว์เลี้ยงที่อาศัยในโครงการสามารถเดินเล่น หรือเดินออกกำลังกายได้อย่างสะดวก พื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตรายจากภัยคุกคามจากภายนอก เช่น รั้วกั้นสัตว์ภายนอกเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงภายในโครงการ
2.ระบบระบายอากาศ : การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอาจส่งผลให้มีกลิ่นได้ ตัวอาคารเองควรมีระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาภาพอากาศในห้องชุดพักอาศัย และห้องส่วนกลาง
3.การจัดการของเสียที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง : การเลี้ยงสัตว์อาจส่งผลให้มีขยะเพิ่มขึ้น โครงการควรมีระบบจัดการสิ่งของเสียที่เหมาะสม เช่น ถังขยะที่มีล็อคให้สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าถึงได้ มีรอบการจัดเก็บขยะในห้องพักขยะที่ถี่ขึ้น
4.การใช้สารพิษในการกำจัดปลวก/แมลง : การใช้สารเคมีในโครงการควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้สร้างความเสี่ยงต่อสัตว์เลี้ยง แนะนำให้ใช้วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อต้องการความสะอาดและการดูแลสุขาภิบาลในคอนโด
5.การควบคุมเสียง: การควบคุมเสียงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงทำเสียงรบกวนผู้อยู่อาศัยอื่น ๆ เช่น การติดตั้งแผ่นซับเสียงในห้องชุด / พื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น
6.การศึกษาผู้อยู่อาศัย: ควรมีการสร้างความเข้าใจและการศึกษาผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์และกฎระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในอาคารชุด เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมมือกันในการรักษาความสงบสุขและการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ รวมถึงการบริหารจัดการค่าส่วนกลางสำหรับโครงการที่ให้เลี้ยงสัตว์ได้ จากผลการสำรวจพบว่า 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับเงื่อนไข/กฎระเบียบ/ข้อบังคับ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสัตว์ที่สูงกว่าโครงการที่ไม่ให้เลี้ยงสัตว์ได้