สวนเพลินจิต สวนสาธารณะแนวยาวที่เกิดจากแนวคิดการนำพื้นที่รกร้างของเมือง มาพัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะให้คนใช้งาน
ถ้าใครได้เคยขับรถผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงคลองเตย-เพลินจิต ซึ่งเป็นช่วงถนนที่เรียบกับระดับดินไม่ได้เป็นทางยกระดับ คงต้องเคยเห็นป้ายโฆษณาที่ตั้งอยู่เรียงรายต่อกันยาวหลาย 10 ป้ายกันมาบ้าง ซึ่งแต่เดิมก็เป็นพื้นที่ที่รกร้างไม่ได้ถูกใช้งานนอกจากจะเป็นแค่ที่ตั้งของป้ายโฆษณา เนื่องจากเป็นพื้นที่แปลงแคบยาวอยู่ตรงกลางระหว่าง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางรถไฟ กับ ถนนดวงพิทักษ์ ซึ่งเข้าถึงได้ลำบาก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม จึงได้ทำการปรับปรุงที่ดินที่ปล่อยรกร้างเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะที่มีความยาวทั้งหมด 2.5 กม. วางตัวตามแนวแกนเหนือใต้ เริ่มต้นตั้งแต่ในฝั่งถนนสุขุมวิท หรือ บริเวณอาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ ลากยาวจนไปถึงทิศใต้ บริเวณถนน พระราม 4 ซึ่งตลอดทางเดินก็จะมีการจัดพื้นที่ลู่วิ่ง สลับกับ พื้นที่สวนและต้นไม้ มีทางยกระดับอยู่บริเวณกึ่งกลางสวน ที่จะยกระดับเพื่อหลบทางรถยนต์ที่ต้องใช้สัญจรไปมา โดยในบริเวณทางยกระดับดังกล่าวจะมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้บริการอยู่ในนั้น เช่น จุดพัก จุดดื่มน้ำ ห้องน้ำ รวมถึงมีห้องฟิตเนสให้ บริการด้วย ซึ่งการเข้าออกของ สวนจะมีอยู่ 2 ตำแหน่งหลัก คือ บริเวณถนนสุขุมวิทกับในบริเวณตำแหน่งของทางยกระดับจุดนี้ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงไปกับพื้นที่สะพานเขียวที่วางแนวตะวันตก ตะวันออก โดยสามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่สวนขนาดใหญ่ อีก 3 สวนของกรุงเทพฯได้ คือ สวนลุมพินี สวนป่าเบญจกิติ และ สวนเบญจกิติ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นการเชื่อมโยงเนื้อพื้นที่เขียวสวนของกรุงเทพมหานครที่ใหญ่ที่สุด
ที่มา: https://www.facebook.com/photo?fbid=586502646857742&set=a.554794396695234
และถ้าถามว่าการพัฒนาแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่? ก็ต้องตอบว่าเคยมีการพัฒนาหลายโครงการ ไม่ว่าจะทั้งในไทยเองหรือในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการนำโครงสร้างสะพานรถไฟฟ้าสายแรก “รถไฟฟ้าลาวาลิน” ที่ไม่ได้ถูกใช้งานมากกว่า 30 ปี ปรับมาเป็นพื้นที่สวนลอยฟ้า ซึ่งโครงการนี้ผ่านกระบวนการร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้การออกแบบที่ผ่านความเห็นชอบของทุกฝ่าย