มหานครกัวดาลาจารา กับการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย TOD
สิ่งที่นักวางผังเมืองทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ การเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด จนแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามไม่ทันความต้องการของเอกชน และประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ใจกลางเมืองจนเกินความควบคุมเหมือนเช่น มหานครกัวดาลาจารา (Guadalajara) ประเทศเม็กซิโก มหานครแห่งนี้ประสบปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด ถึง 381.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 – 2553
หากเทียบกับการเติบโตของประชากรในเมืองใหญ่ทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่าง 40 – 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาที่ดินผังเมือง ต้องนำแนวทางของ TOD (Transit Oriented Development) เข้ามาแก้ไขปัญหาของมหานครกัวดาลาจารา จนพบว่าเมืองแห่งนี้มีปัญหาที่ต้องแก้ไข 4 มิติ คือ 1.ความกระจัดกระจาย (Dispersed) เพราะการพัฒนาแต่ละพื้นที่กระจายไปคนละทิศละทาง ไม่เกาะกลุ่มขยายตัวออกไป 2.ความห่างไกล (Distant) การพัฒนาในแต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกล ไม่เกาะกลุ่มร่วมกันพัฒนา 3.ขาดการเชื่อมต่อ (Disconnected) พื้นที่ที่เอกชนเข้าไปพัฒนานั้นอยู่นอกเส้นทางรถไฟ และพื้นที่ถนนก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโต 4.ความไม่สม่ำเสมอ (Uneven) การพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ผุดขึ้นอย่างไม่มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน เช่น พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของเมือง ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นต่ำ กลับตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมืองเป็นต้น ซึ่งปัญหาทั้ง 4 มิตินี้ถูกแก้ไขด้วย 3 วิธีดังต่อไปนี้ คือ
1. ดึงขอบเขตการขยายตัวของเมือง ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟรางเบา
ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2523 เมืองกัวดาลาจารา มีการกระจุกตัวหนาแน่นในบริเวณใจกลางเมือง ระดับประชากร 300 – 400 คนต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ก่อนจะเริ่มขยายตัวไปพื้นที่รอบนอกอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) จนกระทั่งปี พ.ศ.2553 พบว่ามีพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นในจุดรอบนอกใกล้ขอบเขตพื้นที่เมือง ทั้งที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหรือระบบขนส่งสาธารณะยังไปไม่ถึง
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการปล่อยปะละเลย ให้ภาคเอกชนเข้าไปพัฒนาพื้นที่โดยที่ภาครัฐเองยังไม่ได้กำหนดว่าพื้นที่ใดควรได้รับการพัฒนาแบบไหน เพื่อให้เมืองเติบโตขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาของนักวางผังเมืองกัวดาลาจารา ได้ริเริ่มโครงการสร้างเส้นทางรถไฟรางเบาขึ้นมา 3 สายไปสู่พื้นที่ชุมชนที่กระจายอยู่รอบนอก พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟตามแนวทาง TOD
เส้นทางรถไฟ 3 สายนี้เป็นเสมือนโครงสร้างหลักของเมือง ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาหลังจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางเบาทั้ง 3 สายเสร็จสิ้น คือการที่ภาคเอกชนยึดเส้นทางรถไฟรางเบาเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการใหม่ ทำให้การพัฒนาที่ดินอยู่ในเส้นทางที่กำหนด ไม่กระจายตัวไปอยู่ในจุดที่ไม่คาดคิด หรือจุดที่โครงสร้างพื้นฐานยังพัฒนาไปไม่ถึงเหมือนช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
วิธีนี้ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง ความกระจัดกระจาย ความห่างไกล และขาดการเชื่อมต่อ ที่มีอยู่ของเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี