แสนสิริและบางจากฯ ชวนคุณเปลี่ยน ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘พลังงาน’ ตั้งจุดรับ ‘ขยะกำพร้า’ ที่รีไซเคิลไม่ได้ ที่ฮาบิโตะ มอลล์ สานต่อโครงการ Waste to Worth ช่วยลดปริมาณขยะเพื่อโลกที่ยั่งยืน
– แสนสิริ จับมือ บางจากฯ ต่อยอดเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกัน จัดกิจกรรมเชิญชวนลูกบ้านและบุคคลทั่วไป เปลี่ยน ‘ขยะกำพร้า’ สู่ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ภายใต้โครงการ Waste to Worth: ขยะกำพร้าสัญจร
– ชี้ ‘ขยะกำพร้า’ เป็นขยะมูลฝอยที่รีไซเคิลไม่ได้ ขายต่อไม่มีมูลค่า ไม่ผ่านกระบวนการกำจัดที่ถูกต้อง จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องของรัฐและเอกชนมีกว่า 85% และเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ตลอดจนภาวะโลกร้อน
– สรุปผลกิจกรรม รวบรวมปริมาณขยะกำพร้าได้กว่า 1,460 กก. หลังโต้โผรวมพลังครอบครัวแสนสิริทั้งลูกบ้าน พนักงานและบุคคลทั่วไปนำส่งขยะกำพร้า ตั้งจุดรับหน้าฮาบิโตะ มอลล์ (Habito Mall) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา
– มองไกลวางแผนต่อยอดกิจกรรมไปสู่คอมมูนิตี้แสนสิริอื่น ๆ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการช่วยลดปริมาณขยะไปสู่ภูเขาขยะให้ได้มากที่สุด รุกหน้าตามเป้าหมาย Net-Zero สู่การเป็นอสังหาฯ ไทยรายแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์”
นายองอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แสนสิริให้ความสำคัญกับความเป็น Global Citizen ผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เราเชื่อมั่นว่า การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้อย่างยิ่งใหญ่ ต้องมาจากการรวมพลังและความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทั้งลูกบ้าน พนักงาน พันธมิตรและชุมชน โดยในครั้งนี้ เราได้จับมือกับบางจากฯ พันธมิตรสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อจัดกิจกรรมเชิญชวนลูกบ้านและบุคคลทั่วไปนำส่งขยะกำพร้าจากที่อยู่อาศัย และมีบริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทั้งจากภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ได้รวบรวมขยะกำพร้าเข้าสู่กระบวนการแปรรูป เพื่อคัดแยก บดย่อย บีบอัดและนำส่งให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินสำหรับใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อไป สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีลูกบ้านและบุคคลทั่วไปนำขยะกำพร้ามาส่งตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมง ทำให้เราสามารถรวบรวมขยะกำพร้าเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 1,460 กก. ตามข้อมูลของเอ็น15 เทคโนโลยี”
‘ขยะกำพร้า’ เป็นขยะมูลฝอยที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน หรือไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ ทำให้ไม่มีมูลค่าและไม่มีใครรับไปจัดการ จากข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 2562 (ล่าสุด) ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนที่ไม่ถูกต้องทั้งของรัฐและเอกชนที่เปิดดำเนินงานทั้งหมด 2,257 แห่ง คิดเป็น 85% จาก 2,666 แห่งของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด แม้มีการรวบรวมเก็บขยะ แต่มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเทกอง การเผากลางแจ้งและการเผาในเตาเผาที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณ ตลอดจนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เช่น มลพิษทางอากาศ น้ำชะมูลฝอย ทำให้มีกลิ่นเน่าเหม็นของขยะ จนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเกิดเพลิงไหม้บริเวณสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อน
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2050 การบริหารจัดการทรัพยากรจึงเป็นประเด็นที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในแง่ของการจัดการของเสียนั้น มีการดำเนินการจัดการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอันสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ลดผลกระทบต่อสังคมจากปริมาณขยะถูกทิ้งในบ่อและลดปริมาณมลพิษทางอากาศจากการฝังกลบ จากการริเริ่มตั้งจุดรับขยะกำพร้าที่ปั๊มบางจากในกรุงเทพฯ ปริมณฑลร่วมกับเอ็น 15 เทคโนโลยีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดี เราได้ต่อยอดความร่วมมือนี้กับแสนสิริ ตั้งจุดรับขยะกำพร้าหน้าฮาบิโตะ มอลล์ (Habito Mall) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน พนักงานและบุคคลทั่วไปที่ต้องการกำจัดหรือทิ้งขยะกำพร้า โดยเอ็น 15 เทคโนโลยีได้รวบรวมนำไปเข้าสู่กระบวนการกำจัด ด้วยการบดและสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ สำหรับใช้ในโรงงานเพื่อทดแทนถ่านหินในเตาเผาปูนซีเมนต์ กลายเป็นพลังงานทดแทนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่วิธีจัดการที่ดีที่สุด เนื่องจากมีการเผา แต่ถือเป็นการเผาด้วยอุณหภูมิสูง กำจัดความเป็นพิษได้ดีกว่า รวมทั้งอยู่ภายใต้การควบคุมมลพิษและบำบัดไอเสียตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยลดขยะที่ต้องไปฝังบ่อกลบที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย”
“จากกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมของโครงการ Waste to Worth: ขยะกำพร้าสัญจร ที่ผ่านมา เราพร้อมดำเนินงานตามเป้าหมาย Net-Zero มุ่งสู่การเป็นอสังหาฯ ไทยรายแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” จึงวางแผนที่จะสานต่อกิจกรรมไปสู่คอมมูนิตี้แสนสิริอื่น ๆ เพื่อระดมพลังของครอบครัวแสนสิริที่มีกว่า 100,000 ครอบครัว ให้มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะไปสู่ภูเขาขยะให้ได้มากที่สุด” นายองอาจ กล่าวปิดท้าย