We will Survive! รวมไอเดียรับมือภัยโรคระบาด COVID-19 สำหรับคนอสังหา 10 กลุ่ม
COVID-19 มา ไลฟ์สไตล์คนก็เปลี่ยน
จนถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักโรค COVID-19 อีกต่อไปแล้ว มันไม่ใช่แค่โรคที่ทำให้สุขภาพของเราป่วย แต่โรคนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตทุกด้านของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากเคยนัดพบเพื่อนฝูงกินข้าวเฮฮาตามห้างบาร์ร้านอาหารก็ต้องยกเลิก เคยจัดประชุมเล่นคอนเสิร์ตเป็นร้อยเป็นพันคนก็ต้องทำ Social Distance ลดกิจกรรมทางสังคม จากที่เคยท่องเที่ยวบินไปบินมาได้อย่างเสรีก็ต้องหยุดบินเพราะบางเมืองมีการ Lockdown เมือง มีการปิดสถานที่ชุมนุมคนเพื่อยับยั้งการเดินทางแพร่กระจายของโรค
เมื่อพฤติกรรมของมนุษย์จำเป็นต้องเปลี่ยน เม็ดเงินที่หมุนเวียนก็เปลี่ยนเส้นทางเช่นกัน แต่ทีนี้เราจะปรับเปลี่ยนธุรกิจการงานของเราให้รองรับกับไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่ต้องเปลี่ยนอย่างปุบปับนี้อย่างไร เรามาร่วมกันมองหาโอกาสกันครับ ในบทความนี้ขอมุ่งเน้นไปที่มุมมองเฉพาะของคนในวงการอสังหาฯ ครับ
ไอเดียปรับตัวรับมือวิกฤติไวรัส
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 กันทั้งสิ้น โดนหางเลขมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ Business Model ของแต่ละคน
1. โรงแรม (Hotels)
เริ่มไล่กันจากคนที่แย่ที่สุดในวิกฤติไวรัสนี้ก็คงหนีไม่พ้นคนที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกยกเลิกการเดินทาง เมื่อคนหยุดเดินทางโรงแรมก็ย่อมว่าง จะรอให้คนในท้องถิ่นเดียวกันมาพักก็คงมีจำนวนไม่มากเท่าลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว
เพื่อนของผู้เขียนเป็นเจ้าของธุรกิจ Hostel กลางเมืองในกรุงเทพ จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจแย่ลงและมีคู่แข่งมากมาย เดิมทีลูกค้าเข้าพักก็ไม่ค่อยจะเต็ม 100% อยู่แล้ว แต่เมื่อมีวิกฤติไวรัสวันนี้มีคนพักเพียงแค่ 3 ห้องจากทั้งหมด 30 ห้อง คิดเป็น Occupancy rate แล้วต้องร้องไห้ตามเพราะมีแค่ 10% เท่านั้น ความเศร้าใจอยู่ที่ว่ารายได้น้อยลงฮวบฮาบแต่ค่าใช้จ่ายคงที่ก็ยังวิ่งไล่ล่าอยู่ทุกเดือน ต้องมีเงินมาจ่ายพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ ถ้าไม่มีสายป่านที่ยาวจะเอาเงินที่ไหนมาเปิดดำเนินงานต่อไป สิ่งที่ต้องทำได้คือการหยุดกิจการชั่วคราวแล้วค่อยกลับมาเปิดบริการใหม่หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น
บางโรงแรมที่มีครัวทำอาหารก็อาจจะต้องเปลี่ยนสินค้าที่ขาย จากเดิมขายห้องพักก็เปลี่ยนมาเป็นขายอาหาร delivery เพื่อให้ตอบรับกับดีมานด์ที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน ผู้บริหารโรงแรมอาจต้องเปลี่ยนหน้าที่พนักงานตำแหน่งเดิมมาเป็นพนักงานส่งอาหาร กรณีก็เหมือนการบินไทยที่เริ่มขายเมนูที่เสิร์ฟบนเครื่องบินมาส่งถึงบ้านทดแทนรายได้จากธุรกิจการบินที่สูญเสียไป
ฝ่ายแม่บ้านและดูแลห้องพักที่เดิมมีงานล้นมือ แต่ตอนนี้ไม่มีการจองห้องพักเข้ามา ก็อาจจะเร่งหาความรู้ Know-how ใหม่ เปลี่ยนธุรกิจไปเป็นรับจ้างทำความสะอาดสถานที่ Big Cleaning ไล่ COVID-19 ตามคอนโดมิเนียมต่างๆ เพื่อช่วยงานทีมแม่บ้านคอนโดที่งานอาจจะล้นมือในตอนนี้
ส่วนพนักงานฝ่าย Front Office, PR และแผนกหลังบ้านต่างๆ ก็อาจจะรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมออนไลน์ชั่วคราวเพื่อรวมกลุ่มไปทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือทีมแพทย์พยาบาลในด้านงาน admin ต่างๆ
เจ้าของโรงแรมบางคนประกาศอนุญาตให้รัฐบาลสามารถใช้โรงแรมดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเพื่อเป็นสถานที่กักกันโรคและรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
อีกตัวอย่างของการปรับตัวในช่วงวิกฤต COVID-19 มีโรงแรม The Idle Residence ย่านคลอง 1 ปทุมธานี เสนอแพ็คเก็จ 14- Days Stay Safe เป็นบริการห้องพักที่แยกตึกพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการกักตัว 14 วัน มีบริการแอร์ส่วนตัว อาหารเช้า ผู้ช่วยส่วนตัว 24 ชั่วโมง และบริการ Netflix ก็ถือว่าเป็นอีกไอเดียหนึ่งในการรับมือวิกฤติไวรัสในตอนนี้
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ทำได้ มันต้องลองสู้กันสักครั้ง!
2. เจ้าของที่พักปล่อยเช่าระยะสั้น (Airbnb Hosts)
กลุ่มนี้ก็โดนผลกระทบไม่ต่างจากโรงแรมเลยครับ จากบทความเรื่อง “เจาะข้อมูลรายงานผลกระทบของ Coronavirus ในตลาดเช่าที่พัก Airbnb ทั่วโลกA” รายงานว่าตลาดปล่อยเช่า Airbnb นั้นถูกรุมเร้าหนัก ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ปล่อยเช่าห้องพักในเขตตัวเมืองที่นักท่องเที่ยวต้องใช้ขนส่งสาธารณะนั้นมีลูกค้าส่ง Booking มาจองพักน้อยลงมาก บางเมืองยอดจองลดต่ำลงประมาณ 26% ไปจนถึงลดจนร้องไห้ถึง 96% กันเลยทีเดียว ยิ่งเมืองใดมีการประกาศว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงก็ยิ่งมี Booking ใหม่ๆ ลดลง แต่ถ้าที่พักตามต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อาศัยการขับรถไปถึงแล้วนอนพักเลยอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
ไอเดียแก้วิกฤติตอนนี้คือ เปลี่ยนจากให้เช่าระยะสั้นเป็นให้เช่ารายปีด้วยราคาพิเศษเพื่อให้อย่างน้อยมีรายได้ประจำเข้ามาก็ยังดี
อีกวิธีคือการลดราคาค่าห้องให้ดึงดูดใจสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติที่ยังเดินทางเข้ามาในไทย พฤติกรรมการจองในช่วงนี้อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการจองแบบกะทันหันโดยไม่วางแผนล่วงหน้า เพราะว่าผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์และผ่านการตรวจคัดกรองก่อน ถ้าผ่านขั้นตอนทุกอย่างได้แล้วจึงจะเริ่มจองห้องพักจริง ดังนั้น host จึงต้องฉับไวในการตอบสนองต่อคำขอจองห้องพักมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ
3. ผู้พัฒนาอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ (Commercials)
คนทำห้างก็ประสบปัญหาผู้คนไม่ออกจากบ้านมาเดินเล่นห้างเพราะกลัวโรคจนต้องออกมาตรการทำความสะอาดเชื้อโรคกันเพื่อสร้างความมั่นใจ และข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ทางกรุงเทพมหานครประกาศให้ปิดพื้นที่ห้างบางส่วนแล้วเหลือไว้บริการไว้เฉพาะโซนอาหาร ยา ของใช้จำเป็น เพื่อเป๋็นมาตรการทำให้ผู้คนทำการลดกิจกรรมทางสังคมหรือ Social Distance กันมากขึ้น หวังลดการแพร่กระจายของโรค COVID-19 มาตรการดังกล่าวทำให้คนทำห้างได้รับผลกระทบ แต่คนที่ลำบากที่สุดอาจจะยังไม่ใช่เจ้าของห้าง แต่คือผู้ค้าที่เช่าพื้นที่ในห้างนั่นเอง
วิธีแก้ไขคือ การส่งเสริมให้ผู้ค้าภายในห้างย้ายไปขายของใน platform ออนไลน์ที่ทางห้างจัดขึ้นมา หรือจะทำบริการ virtual shopping experience คล้ายๆ google street view ถ่ายภาพภายในพื้นที่ห้าง เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์เสมือนเดินห้างแบบที่ไม่ต้องออกจากบ้าน และเปลี่ยนหน้าที่พนักงาน PC ที่ยืนขายเปลี่ยนมาตอบ chat กับลูกค้าออนไลน์แทน
ทั้งนี้ทางห้างจำเป็นต้องปรับตัวเพราะมาตรการปิดห้างนั้นแม้จะมีกำหนดการหยุดปิดก็จริง แต่สถานการณ์โรค COVID-19 นั้นเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์เพราะคนเราไม่สามารถสื่อสารกับไวรัสโดยการร้องขอให้มันหยุดได้ เราจึงไม่สามารถวางแผนคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เลย แผนต่างๆ ที่เคยวางไว้อาจต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ดังนั้นห้างและผู้ค้าต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ อย่าอยู่เฉย
4. นักลงทุนอสังหาฯ ระยะสั้น (Speculators)
กลุ่มคนขายใบจอง-ใบดาวน์คอนโดที่กำลังใกล้จะโอนกรรมสิทธิ์นี้ถือเป็นกลุ่มคนที่ร้อนรุ่มใจมากที่สุด ด้วยสถานการณ์อันไม่แน่นอนแบบนี้เคยคาดหวังว่าจะมีลูกค้ามารับไม้ต่อที่เคยอยากจะซื้อหรือสร้างหนี้ใหม่ก้อนใหญ่ๆ แต่พอ COVID-19 มาลูกค้าที่จะซื้อต่อก็คิดอยากจะเก็บเงินสดไว้ก่อนดีกว่า
วิธีแก้สถานการณ์สำหรับคนกลุ่มนี้มีหลายไอเดีย เช่น
ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาวโดยการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของตัวเองแล้วรอเวลาขายในอนาคตเมื่อทุกอย่างกลับมาดีขึ้นเหมือนเดิม
ตัดขาดทุน cut loss ขายแบบขาดทุน หรือทิ้งไม้ คือ ยอมให้ยึดเงินจองเงินทำสัญญาและเงินดาวน์ไปเลย
ถ้ามีความเชื่อใจกันระหว่างคนซื้อและคนขายก็อาจจะร่างสัญญาให้ผู้ซื้อทยอยจ่ายโดยที่ผู้ขายยอมโอนสิทธิ์ไปให้ก่อน แต่วิธีนี้ย่อมมีความเสี่ยงที่ต้องคำนึงครับ ก็แล้วแต่จะตกลงกันเอาเอง
บางคนอาจจะใช้ช่วงเวลาชุลมุนที่โครงการอาจจะยังสร้างไม่เสร็จทันกำหนดการตามสัญญาก็ร่อนจดหมายชิงยกเลิกสัญญาไปก่อน
ทั้งนี้กลยุทธ์หนีตายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นลองพิจารณาปัจจัยต่างๆ ร่วมกันและปรึกษาคนที่มีประสบการณ์ครับ
5. นักลงทุนระยะยาว ซื้อเก็บรอขายอย่างเดียว (Long-term Investors)
เดชะบุญสำหรับกลุ่มนักลงทุนระยะยาวในวิกฤติไวรัสนี้ กลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากเท่ากลุ่มอื่น แถมเป็นโอกาสสำหรับคนกลุ่มนี้ด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบันเหล่า Developer บริษัทต่างๆ ก็เร่งเข็นสต๊อกของตัวเองออกมาขายปล่อยขายในราคาร้องว้าวกว่าช่วง Pre-sale เสียอีก เวลาตอนนี้เป็นเวลาที่อสังหาราคาคงไม่ลดต่ำกว่าต้นทุนแน่อนอน แต่ความดีงามคือราคาก็ไม่เพิ่มมากนัก และบางโครงการบางทำเลก็มีแนวโน้มที่จะลดราคา อัดโปรโมชั่นที่ไม่รู้โผล่มาจากไหนมากมายให้กับลูกค้า ตอนนี้จึงเป็นตลาดของผู้ซื้อคอนโดเอาไว้ลงทุนระยะยาวครับ รีบเปิดดูโปรโมชั่นต่างๆ ในเว็บไซต์ www.propholic.com ของเราได้เลยว่ามีที่ไหนเซลส์บ้าง 😀
6. กลุ่มคนปล่อยเช่า (Landlords)
กลุ่มซื้อปล่อยเช่าอาจจะได้รับผลกระทบในกรณีหาผู้เช่ารายใหม่ เพราะเศรษฐกิจชะงักและมี COVID-19 แบบนี้ทำให้การจ้างงานใหม่ๆ อาจจะทำได้ไม่สะดวกมากนัก และมาตรการ Social Distance อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นี้ก็ทำให้ผู้คนออกจากบ้านมาติดต่อหาห้องเช่ากันน้อยลง และคนก็เลือกจะอยู่ที่เดิมไปก่อนสักพักจนกว่าสถานการณ์ไวรัสจะน่ากลัวน้อยลงกว่านี้
ส่วนผู้ให้เช่าที่ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มคือ กลุ่ม Landlord ที่ผู้เช่าทำงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ผู้เช่ากลุ่มทำงานสายการบิน โรงแรม การท่องเที่ยว ผู้เช่าอาจโดนเลิกจ้างเพราะนายจ้างหยุดกิจการ จึงไม่มีเงินเดือนมาจ่ายค่าเช่าก็เป็นไปได้ อีกกลุ่มคือ ผู้เช่าบางคนที่เป็นต่างจังหวัดก็อาจจะตัดสินใจย้ายกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ก็ส่งผลให้ห้องเช่าหรือคอนโดมิเนียมในกรุงเทพว่างมากขึ้นเพราะคนต่างจังหวัดก็สามารถรับงานจากกรุงเทพแต่ทำที่บ้านตรงไหนตามนโยบาย work from home ได้แล้ว
ไอเดียแก้สถานการณ์ เช่น
ลดราคาค่าเช่าห้องให้ต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ต้องการมาเช่า
ช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าผู้เช่าคนปัจจุบันที่ได้งานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยการเก็บค่าเช่าครึ่งหนึ่งชั่วคราวแต่จ่ายเพิ่มทีหลังเมื่อการงานการเงินดีขึ้นในอนาคต อนุญาตเลื่อนการจ่ายค่าเช่าไปก่อน หรือวิธีการใดๆ เพื่อยังรักษาลูกค้าผู้เช่าปัจจุบันให้อยู่ได้ไปก่อน
ถ่ายคลิปวิดีโอห้องเช่าของเราและสภาพแวดล้อมรอบข้างเพื่อเป็นสื่อเอาไว้ให้ลูกค้าดูแทนที่ลูกค้าจะต้องมาเดิน survey เอง ถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าผู้จะเช่ามากขึ้น
เปิดให้เช่าสำหรับคนที่ต้องการพื้นที่กักตัวอยู่เดี่ยวหรือสำหรับผู้ต้องการ Self-Isolation เพราะตัวเองยังคงต้องจำเป็นออกไปทำงานนอกบ้านและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัวที่ส่วนใหญ่อยู่บ้าน เช่น กลุ่มแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือคนที่ทำงานกับคนหมู่มาก
7. บริษัทผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย (Developers)
สถานการณ์ไวรัสแบบนี้ กลุ่มคนทำบ้านและคอนโดขายก็พบปัญหาลูกค้าไม่อยาก walk มาดูสำนักงานขายเพราะกลัวติดโรคจากคนนอกบ้าน ฝ่ายขายอสังหาจำเป็นต้องปรับตัวด่วนเพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าการซื้ออสังหาจะราบรื่นและไร้โรคภัย
ทางแก้ไขสถานการณ์ คือ
ทำสภาพแวดล้อมของสำนักงานขายให้ปลอดภัยจากความเสี่ยง COVID-19 เช่น การปิดแอร์สำนักงานขาย แล้วเปิดหน้าต่างประตูแทนเพื่อให้ไม่เป็นพื้นที่อับอากาศ ทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้มากขึ้น จัดหน้ากากอนามัยฟรี จัดอ่างล้างมือและสบู่ล้างมือให้ทุกคนก่อนเข้าสำนักงานขาย การทำสื่อช่วยขายตามแนวทาง Social Distance เพื่อลดความใกล้ชิดระหว่างพนักงานขายกับลูกค้า เช่น ทำลำดับมาร์กจุดยืนในห้องตัวอย่าง พร้อม QR Code ที่พื้นให้ลูกค้าสแกนดาวน์โหลดคลิปเสียงบรรยายจากพนักงานขายฟังกันเอาเอง จำกัดผู้เข้าสำนักงานขายในแต่ละรอบ จัดคิวให้ลูกค้ารออยู่ในรถยนต์ก่อนพอถึงคิวก็เชิญเข้าไปดูห้องตัวอย่าง ถ้าลูกค้ามีคำถามอยากคุยก็เลี่ยงเจอหน้ากันแต่ให้โทรศัพท์สอบถามหรือ chat กันแทน
อีกวิธีคือ ใช้สื่อออนไลน์ช่วยขาย ทำคลิปวิดีโอแบบเจาะลึกทุกซอกมุมแล้วให้ลูกค้ารับชมผ่าน Youtube ก็ได้ , นัดหมายลูกค้าเพื่อ video call กับลูกค้า, การทำ Live สดการขาย คล้ายๆ ประมูลสดออนไลน์ ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ก็ต้องหลังจากที่ลูกค้าได้รับข้อมูลมามากเพียงพอแล้ว
8. ผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractors)
ความปลอดภัยจากโรค COVID-19 ของแรงงานก่อสร้างในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้นยังไม่ค่อยเป็นประเด็นที่มีคนกล่าวถึงในวงการอสังหา แต่เป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะถ้าแรงงานก่อสร้างป่วย นั่นเท่ากับการก่อสร้างต้องหยุดชะงักและย่อมส่งผลต่อความเป็นไปด้านการเงินของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ อย่างแน่นอน
บริษัทก่อสร้างจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานปลอดภัย เร่งให้ความรู้เรื่องสุขลักษณะ เข้มงวดการล้างมือบ่อยๆ จัดเตรียมพื้นที่ล้างมือฟอกสบู่ กระตุ้นวัฒนธรรมการกินอาหารจานชามช้อนใครช้อนมัน การตรวจสุขภาพวัดไข้ การจำกัดบริเวณเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ไซต์ก่อสร้างและพื้นที่พักอาศัยของคนงาน การคัดกรองและกักตัวสำหรับแรงงานที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถหาได้จากลิงค์ “คำแนะนำสำหรับประชาชน” จากเว็บไซต์ กรมควบคุมโรคhttps://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php
9. ธนาคาร ฝ่ายสินเชื่อ (Banks)
ปัญหาของฝ่ายสินเชื่อคือตอนนี้ไม่สามารถพบปะลูกค้าแบบตัวต่อตัวกันได้เนื่องจากต้องทำ Social Distance กัน ดังนั้นทางแก้ไขสถานการณ์คือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น เช่น อนุญาตให้ลูกค้าส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์หรือทางอีเมล ไลน์ Google Drive ไปแทน สอนลูกค้าใช้เทคโนโลยีในการส่งเอกสาร สแกนเอกสารผ่านแอป CamScanner
ประเด็นนี้ทางผู้บริหารธนาคารจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเครื่องมือและระบบที่จะทำให้ฝ่ายสินเชื่อทำงานบริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัว การรับฟังปัญหาและไอเดียวิธีการทำงานจากพนักงานระดับปฎิบัติการตัวจริงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ธุรกิจสินเชื่อยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
10. ผู้ดูแลบริหารจัดการทรัพย์สิน (Proprty Management)
กลุ่มสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันเพราะเป็นผู้ที่จะดูแลเทคแคร์ให้ทุกคนที่อยู่ในอาคารต่างๆ ปลอดภัยจากโรคภัยได้ก็คือ กลุ่มนิติบุคคลคอนโดมิเนียม หรือผู้จัดการอาคารต่างๆ นั่นเอง ได้แก่ ทีม admin ทีมช่าง ทีมแม่บ้าน ทีมรักษาความปลอดภัย
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งหาความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการจัดการ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยและคนอื่นในอาคารก็ปลอดภัยไปด้วย นอกจากนี้กลุ่มคณะกรรมการคอนโดฯ และลูกบ้านทุกคนต้องใส่ใจและให้ความร่วมมือกับผู้จัดการอาคารอย่างเคร่งครัด
ในแต่ละอาคารควรตั้งกรรมการผู้ดูแลสั่งการถ้ามีผู้ติดเชื้อภายในอาคารว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เพื่อป้องกันการสับสน และทุกคนควรเตรียมตัวขั้นสูงสุดเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและทุกคน
รับคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ หอพัก จากกรมควบคุมโรคได้ที่นี่