เลือกคอนโดยังไงให้ได้ของที่ดีที่สุด กับเบสิคเทคนิค ที่บางทีนักการตลาดโครงการก็ยังไม่รู้
ปกติแล้วผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะซื้อคอนโดเยอะมากในแต่ละปีถ้าเทียบกับเพื่อนๆคนอื่นๆในสายอาชีพเดียวกันครับ คือปีนึง อย่างมากผมก็ซื้อแค่ไม่เกิน 3-4 ห้องเองครับ…ผมเป็นคนที่คิดเยอะ และก็ไม่ได้เป็นคนกล้าได้ กล้าเสีย ไม่ได้ซื้อห้องทีละเยอะๆทุกโครงการแล้วมาถัวเฉลี่ยผลกำไรจากห้องกำไรสูงเพื่อไป cut loss ห้องที่ขายไม่ได้ คือผมไม่ได้มีทุนหนา คอนเนคชั่นปึ๊ก ช่องทางเยอะ เหมือนอย่างคนอื่นเขา (พูดอีกอย่างก็คือไม่มีเงินต่างหากล่ะ 555)…แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้นผมก็เลือกไปจองห้องที่โครงการ Chapter Charoennakhon – Riverside (แชปเตอร์ เจริญนคร ริเวอร์ไซด์) ครับ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่มัดใจผมได้ และน่าจะเป็นโครงการเดียวในปีนี้ที่ผมซื้อหลังจากที่ผมพิจารณาจาก Line up การเปิดตัวโครงการคอนโดทั้งหมดในปีนี้ของ Developer ทุกราย
คอนโดแต่ละแห่งนั้นล้วนแต่มีจุดดึงดูดความสนใจลูกค้าที่แตกต่างกันไป บางที่มันเหมือนดูดีไปหมดเลย แต่กลับไม่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Target ที่เจ้าของโครงการวางไว้ ในขณะที่หลายๆแห่งก็แทบจะไม่ได้มอบ Benefit เพิ่มเติมอะไรที่ช่วยขับให้โครงการมีความโดดเด่นทัดเทียมกับศักยภาพทำเลที่ตั้ง ประมาณว่าซื้อที่มาแพง ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มหรอก ทำเลดียังไงก็ขายได้ ซึ่งผู้พัฒนาเค้าก็ไม่ได้ผิดนะครับ เพราะมันเป็นสูตรสำเร็จของขั้นตอนแรกในการพัฒนาโครงการ แต่ในมุมมองของผู้ซื้อหลายๆคนก็ไม่ได้ซื้อเพราะตัวทำเล และราคาที่ถูกเสมอไป…ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆก็คือ เรามักจะได้เห็นการเปิดตัวโครงการคอนโดใหม่หลายแห่งมากมายในพื้นที่เดียวกัน จนคนซื้อก็ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจซื้อโครงการไหนดี เพราะมันก็ทำเลเดียวกัน หน้าตาตึกมันก็คล้ายๆกัน เนื่องจากทีมผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน แถมแนวทางการทำแคมเปญสื่อสาร และช่องทางการขายก็ดันมาเป็นสูตรสำเร็จเหมือนกันอีก เซลล์เอเจนท์หลายรายก็ต้องปวดหัวกับการนำเสนอรายละเอียดโครงการที่เหมือนๆกัน ซ้ำไปซ้ำมา สำหรับคนที่มีเงินในการลงทุนอยู่เยอะ บางคนก็ไม่คิดมากครับ คิดแค่ว่าถ้าทำเลดี ยังไง at the end มันก็ขายได้ ดังนั้นก็ซื้อมันหมดทุกโครงการเลย ง่ายดี ในทางกลับกันคนที่มีงบประมาณจำกัด แต่อยากได้ของที่ดีที่สุด ก็ไม่รู้ว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการบ่งชี้ว่านี่คือของที่ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะไปกางตำราไหน หรือเข้าคอร์สไหน ก็มักจะสอนว่าให้เลือกที่ทำเล และห้องที่ราคาต่ำกว่าตลาด ปราศจาก Defect ในเชิง Attribute เช่น วิว ทิศ หรือตำแหน่งห้อง ซึ่งในชีวิตจริงดีเวลลอปเปอร์สมัยนี้เค้าฉลาดครับ รู้หมดล่ะครับว่าห้องไหนขายยาก เป็น Defect ก็จะสร้างจุดเด่นมาเพื่อ Trade Off เช่น การออกแบบให้ทุกห้องมันเป็นห้องมุมหมดเลย การลดราคา หรือการจัดห้องขนาดเล็กสุดไปไว้ตำแหน่งที่ไม่ดี เพราะยังไงในแต่ละโครงการก็ต้องมีคนที่ต้องการห้องราคาถูกที่สุด โครงการไหนดูแห้งแล้งหน่อย ก็เนรมิตรพื้นที่ Commercial ขึ้นมา จนทำให้กำลังซื้อหน้าใหม่หลายๆคนถึงกับเคลิ้มในม่านควันที่ถูกสร้างขึ้นแบบนี้ก็มีเยอะแยะ
ตัวผมเองมักจะถูกถามเสมอๆในทุกครั้งที่แวะเวียนไปงานขายคอนโด หรือแม้กระทั่งส่งอีเมล, msg มาถามว่าซื้อที่นี่ดีไหม ซื้อห้องไหนดี ลองเปรียบเทียบให้หน่อยว่าระหว่าง 2 ตัวนี้ควรจะซื้ออันไหน ซึ่งในหลายๆครั้งมันก็ยากที่จะหาคำตอบที่ชัดเจนให้โดนใจคนที่ถาม เพราะเค้าเองก็ตั้งธงมาแล้วในระดับนึง ประมาณว่าแค่ถามเพื่อให้ชัวร์ว่ามีแนวร่วม ที่คิดไว้คือไม่ผิด อุ่นใจขึ้นมาได้ถ้าตัดสินใจซื้อที่นี่ คือจะบอกว่าการซื้ออสังหาฯให้ได้ให้โดนมันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับ เพราะแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้มันไม่นิ่ง แถม Barrier of Entry มีน้อยมาก และวัตถุประสงค์ในการซื้อของคนไทยเราส่วนใหญ่มันซับซ้อนกว่าตลาดในประเทศอื่นๆ…อย่างไรก็ตามผมเองก็มีหลักคิดง่ายๆในการเลือกซื้ออสังหาฯให้ได้ตัวที่ดีมากที่สุด ในกรณีที่เรามีงบประมาณในการซื้อที่จำกัดในแต่ละปีแบบผม อยู่ 2 Tools ด้วยกันครับ Tool ตัวแรกที่ผมจะพูดถึงคือการหาจุดต่างที่ช่วยสร้างแต้มต่อจากคู่แข่ง (Extra Point of Different) ซึ่งเป็น Tool ที่ผมเอามาใช้บ่อยในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดโครงการเมื่อครั้งสมัยทำงานประจำ และเอามา Adapt ใช้กับการซื้อคอนโด ส่วนอีก Tool นึงคือ Power Indicator ที่ผมยังขอไม่พูดถึงในบทความนี้ครับ
จุดต่างที่ช่วยสร้างแต้มต่อจากคู่แข่ง (Extra Point of Different) เป็นหลักการพื้นฐานของการสร้างแบรนด์ในหมวด Brand Discovery ที่ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องควานหา Market Positioning & meaning ก่อนที่จะนำมาพัฒนา Brand Platform ต่อไป ซึ่งในการหา Extra Point of Different นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้จัก Attribute พื้นฐานของสินค้าเราซะก่อนว่ามันมี Point of Parity (จุดร่วมพื้นฐานของสินค้าที่มีอยู่ในหมวดเดียวกัน) อะไรบ้าง ซึ่งการที่นักการตลาดส่วนใหญ่มักจะไม่แม่นในเรื่องของ PoP และ PoD ก็เลยทำให้โครงการที่ดีๆบางแห่งกลับขายสู้คู่แข่งไม่ได้ เนื่องจากมีการวางแคมเปญการสื่อสารการตลาดที่ผิด กล่าวคือแทนที่จะสื่อสารถึง Extra PoD กลับการเป็นสื่อถึง PoP ที่มันฟังดูดีไปหมด แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากคู่แข่งเลย หรือที่แย่กว่าก็คือไปสื่อสารถึง PoD ที่ลูกค้าไม่ได้ต้องการมันซะหยั่งงั้น