The Hidden Potential: ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของกล้วยน้ำไท-สุขุมวิท 42 และการเติบโตของพระราม 4 ในอนาคตจะส่งผลต่อ Kluaynamthai Innovative Industries District อย่างไร
ขอต้อนรับเข้าสู่บทความชุดใหม่ The Hidden Potential เราจะพาผู้อ่านไปดูย่านต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสความคิด ยังไม่อยู่ในเทรนด์ความสนใจ แต่จริงๆ แล้วย่านดังกล่าวมีศักยภาพที่แอบซ่อนอยู่รอวันเจิดจรัสในอนาคต บทความซีรี่ส์ The Hidden Potential จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจลงทุนในย่านที่ยังไม่ดัง ยังไม่ฮิต ยังไม่ค่อยมีคนแห่ไปซื้อดันราคาให้พุ่งสูงจนเกินไป เป็นทำเลที่ราคายังอยู่ในจุดสมเหตุสมผล จุดสมดุล และบางย่านที่เราจะพาไปดูก็อาจจะยังราคาถูก แต่มีอนาคตที่ดีมากในอนาคตเป็นโอกาสในการทำกำไรได้
ย่านแรกที่จะพามาดูคือ ย่านแยกกล้วยน้ำไท ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่บนถนนพระราม 4 ถนนกล้วยน้ำไท และสุขุมวิท 42 ด้วยครับ
ย่านกล้วยน้ำไท-พระราม 4-สุขุมวิท 42 อยู่ตรงไหน และทำไมถึงเรียกว่ากล้วยน้ำไท
ย่าน “กล้วยน้ำไท-พระราม 4-สุขุมวิท 42” รวมๆ แล้วเรียกว่าย่านกล้วยน้ำไท เป็นย่านที่อยู่รอบบริเวณแยกกล้วยน้ำไท ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนพระราม 4 ถนนกล้วยน้ำไท และซอยสุขุมวิท 42
เหตุผลที่ทำให้ย่านนี้เรียกว่าย่านกล้วยน้ำไทเพราะว่าในอดีตแถบนี้มีพืชชนิดหนึ่งคล้ายกล้วยหอมเล็กชื่อว่า “กล้วยน้ำไท” ปลูกอยู่มากมายเป็นสวนกล้วยน้ำไท ปัจจุบันเราสามารถไปดูกล้วยน้ำไทต้นจริงได้ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท
ภาพกล้วยน้ำไทในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ที่มาของภาพ wikipedia http://bit.ly/2KnQSkH
สถานที่สำคัญในย่านกล้วยน้ำไท-พระราม 4-สุขุมวิท 42
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท (Bangkok University City Campus)
ภาพจาก http://www.bu.ac.th/bui/contact-bui/campuses-map/
มหาวิทยาลัยกรุงเทพถือกำเนิดขึ้นมาจากการก่อตั้ง “โรงเรียนไทยเทคนิค” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของบริษัทในเครือโอสถสภา) โรงเรียนตั้งอยู่ในที่ดินในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระราม 4 ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของวิทยาเขตกล้วยน้ำไท ในอดีตยังเป็นถนนลูกรังแต่เป็นย่านค้าขายของเหล่าบรรดานายห้างต่างชาติรวมถึงท่าเรือสินค้าที่คลองเตย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อสถาบันใหม่เป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” หรือ Bangkok College เนื่องจาก ชื่อเดิมสร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไปที่คิดว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา การจัดการศึกษาของโรงเรียนในสมัยแรก ๆ ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการไทย เนื่องจากเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญา ผู้บริหารโรงเรียนจึงได้ขอความร่วมมือทางวิชาการจาก มหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสัน (Fairleigh Dickinson University) จากสหรัฐอเมริกา ในการรับรองวิทยฐานะของปริญญา โดยในสมัยนั้นผู้ที่ศึกษาจบการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพจะได้รับปริญญา 2 ใบ คือ จาก วิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสันด้วย
เมื่อวิทยาลัยกรุงเทพเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น การขยายตัวก็มีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ก็มีการเกิดขึ้นของวิทยาลัยเอกชนอีกหลาย ๆ แห่งไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยการค้า วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การแข่งขันของสถาบันการศึกษาเอกชนเริ่มมีมากขึ้น ผู้บริหารจึงมีโครงการที่จะขยายและยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากทางราชการไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 วิทยาลัยกรุงเทพจึงได้รับการยกฐานะจากทางราชการไทยให้เป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527
คัดลอกข้อมูลจาก http://bit.ly/2MueVzf