RE2022 พร้อมเดินหน้ารับปีแห่งความหวัง กับ 5 เทรนด์การตลาดที่อาจพบได้ในปีนี้
“As long as I’m here living and breathing, I’m going to be moving.”
Andrew Whitworth
ก่อนอื่นขอปรบมือดังๆให้กับเพื่อนๆชาวอสังหาฯทุกคนที่ยังคงยืนหยัดอย่างมีความหวังถึงวันฟ้าสดใส ท่ามกลางสถานการณ์อันย่ำแย่ที่ใส่เข้ามาเป็นระยะๆตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาครับ ถ้าใครที่ยังคงทำทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถตลอดช่วงปีที่ผ่านมาโดยเอา Passion เป็นที่ตั้งและตัวเลขกำไรขาดทุนไว้ทีหลัง…คุณคือเผ่าพันธุ์ “ยอดนักรบ- Warrior” เป็นขุนศึกผู้กล้าหาญไร้ซึ่งความกลัว และพร้อมจะประจัญบานในทุกสมรภูมิโดยแท้จริงครับ
เมื่อพูดถึง DNA ของความเป็น Warrior ตัวละครตัวแรกที่ผมมักจะคิดถึงก็คือ Spartacus ขุนศึกทาสชาว Thrace ที่เป็นผู้นำของในการก่อการกบฎของเหล่านักรบ Gladiator และทาสจำนวนนับแสนคน ในยุค Roman Republic (สาธารณรัฐโรมัน) หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ว่า The Third Servile War ซึ่งแม้จะมีจำนวนคนที่น้อยกว่าทหารโรมันหลายเท่าตัว แต่ก็มีอยู่หลายศึกที่สามารถเอาชนะทัพโรมันได้ด้วยกลยุทธ์การรบแบบกองโจร แม้สุดท้ายแล้วตัว Spartacus และกองทัพกบฎจะถูกบดขยี้อย่างราบคาบ โดนฆ่าตายเรียบด้วยการนำทัพของขุนศึกมหาเศรษฐีอย่าง Marcus Licinius Crassus และ Pompey แต่เรื่องราวของ Spartacus ก็ยังคงถ่ายทอดออกมาแรงบันดาลอันยิ่งใหญ่ของหลายๆอีเว้นท์ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ…ใครที่สนใจในเรื่องราวของ Spartacus ก็ลองไปดูซีรีย์ในแบบ 20+ เรื่องเดียวกันนี้ได้ในหลายๆช่องทางครับ
Credit ภาพ: https://www.starz.com/us/en/series/spartacus/5972
ด้วยการที่ DNA ของความเป็น Warrior นั้นเป็นเรื่องราวของความอึด ทน แข็งแกร่ง บู๊ล้างผลาญ ในทุกสถานการณ์ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ก็ให้เราลองสวมวิญญาณของ Warrior ดูครับ เพราะ Warrior นั้นไม่เหมือนกับ Hero ที่จะต้องเป็นผู้ชนะในทุกครั้ง แต่ความเป็น Warrior นั้นจะช่วยปลุกความเป็นนักสู้ที่ไม่ย่อท้อของคุณออกมา บนความเชื่อที่ว่าทุกอุปสรรคคือความท้าทายที่ต้องผ่านไปให้ได้ แม้ว่าจะจบลงที่การเป็นผู้แพ้ก็ตาม แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมาแน่ๆก็คือความมั่นใจในการทำงานครับ
สำหรับในปี 2021 ที่ผ่านมานั้นแม้ข้อมูลในเรื่องของจำนวนการเปิดตัวโครงการจะมีจำนวนที่น้อยมากที่สุดในรอบหลายปี แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือ ปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่มีทั้ง “Supply Shortage” และ “Pent up Demand” อันเนื่องมาจากการเปิดตัวโครงการน้อยในปีที่แล้วและของพร้อมอยู่ที่มีอยู่ในตลาดก็เหลือขายน้อยลงจนขาดไปแล้วสำหรับในบางกลุ่มเซกเมนท์ราคาครับ โดยที่ฝั่งดีเวลลอปเปอร์ก็มองข้ามซ๊อต ไม่สนใจในเรื่องของแนวโน้มของ Pandemic แล้วแต่ไปเน้นพัฒนาโครงการให้ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันต่อเนื่องในอนาคตมากกว่า ส่วนฝั่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงก็มีความเชื่อมั่น กล้าที่จะจับจ่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงแต่ช่วยตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมในแบบฉับพลันได้
ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมานั้นมีข้อมูลสถิติจากหลายๆสำนักวิจัยออกมาว่าธุรกิจอสังหาฯผ่านจุดต่ำสุด (Bottomed Out) แล้วเพราะดีเวลลอปเปอร์เอามีการปรับตัว ปรับฐาน ปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการกันเกือบทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับดีมานท์ที่ยังคงมีเหลืออยู่ และดีมานท์ที่กำลังลังเลว่าจะซื้อดีไหม โดยมีปัจจัยหนุนจากทางฝั่งรัฐบาลเป็นยาเข็ม Booster เพิ่มเข้ามาเพื่ออัดฉีดกำลังซื้อในตลาดด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อค LTV ต่ออายุมาตรการด้านภาษี การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนการพัฒนาโครงการพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้า ฯลฯ… เรามาเริ่ม Wrapped Up ข้อมูลที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมากันก่อนดีกว่าครับ
จากข้อมูลของบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) มีการคาดการณ์ว่า การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2564 มีการเปิดตัวน้อยลงเยอะ แต่คาดตลาดในปีนี้มีแนวโน้มเติบโต 15-20%
โดยปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวโครงการ อยู่ที่ประมาณ 53,000-55,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 265,000-300,000 ล้านบาท เป็นส่วนของแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ประมาณ 33,000-35,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 166,000-188,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 10%-20% และเป็นส่วนของการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม คาดว่าจะมีหน่วยเปิดตัวใหม่ในปี 2564 ประมาณ 20,000-22,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 99,000-112,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 16%-23% โดยตัวเลขการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในเดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 52,171 หน่วย ลดลง 23% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 เป็นการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม 20,295 หน่วย มีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 23% และการเปิดตัวโครงการแนวราบ 31,876 หน่วย อัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 13% โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการเปิดตัวโครงการใหม่สูงสุดของปี 2564 โดยมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 11,648 หน่วย มูลค่า 52,185 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 22.32% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวทั้งหมดในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564)
ด้านความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2564 ที่อยู่อาศัยในแนวราบยังเป็นกลุ่มที่ทำยอดขายสูง โดยเฉพาะ ทาวน์เฮาส์ ในระดับราคาขายต่อหน่วย 2-5 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว ราคาขายมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะสอดคล้องกับเทรนด์การใช้ชีวิตและทำงานในแบบ WFA และความต้องการใน Space ที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า โดยมียอดขายเปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 14% และ 22% ตามลำดับ ขณะที่คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ระดับราคาขายต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดโดยมียอดขายเปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 27% ซึ่งดีมานท์แนวราบนี้น่าจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ควบคู่ไปกับการเปิดตัวโครงการแนวราบที่น่าจะเพิ่มประมาณ 40-50% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยประเมินว่าหน่วยเปิดตัวบ้านพักอาศัยจะอยู่ที่ ประมาณ 46,800-54,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 183,000-190,800 ล้านบาท
ในขณะที่แนวโน้มการเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปี 2565 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น 10-15%จากปี 2564 เช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาฯ ชะลอแผนการเปิดตัวคอนโดมิเนียม และเร่งขายคอนโดมิเนียมที่คงค้างอยู่ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนหน่วยเหลือขายคอนโดมิเนียมในตลาดลดลง ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 หน่วยเหลือขายคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 83,914 หน่วย ลดลง 7.6% จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่มีหน่วยเหลือขายในตลาดอยู่ที่ 90,841 หน่วย ทั้งนี้ตัวเลขการเปิดตัวในปีนี้จะมากหรือน้อยตามความคาดการณ์ ก็ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างโอมิครอน ว่าจะสามารถรับมือได้ดีมากแค่ไหน และมาตรการในการรับมือนั้นส่งผลกระทบในแง่บวก หรือลบต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างไร
สำหรับกลุ่มดีมานท์นักลงทุนและนักเก็งกำไรก็ต้องบอกว่าในปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะคึกคักกว่าปี 2020 นิดหน่อย เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการน้อยมาก และปกติแล้วพฤติกรรมในการซื้อของนักลงทุนก็มักจะเลือกซื้อโดย Based จากฝั่งของซัพพลาย และจำนวนเงินลงทุนในกระเป๋าที่ยังเหลืออยู่เป็นหลัก หากซัพพลายไหนมีจุดเด่นและมีจำนวนที่ค่อนข้างจำกัด มีการพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์กำลังซื้อที่มีอยู่จริงได้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องรอ แต่ข้อสังเกตุที่ผมเห็นก็คือตลาดการซื้อเพื่อลงทุนจะมีอยู่ 2 กลุ่มสินค้าที่พอจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ก็คือ 1. กลุ่มคอนโดประเภทการันตีผลตอบแทนในแบบ Rental Pool Investment Program ที่นำเสนอความแน่นอนในการรับผลตอบแทน ที่ไม่ได้หวือหวามากแต่ได้ชัวร์ และ 2. กลุ่มคอนโดที่เน้นกลุ่มผู้พักอาศัยในแบบเฉพาะ (Niche Market) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใกล้มหาวิทยาลัย กลุ่มแพทย์ กลุ่มคนงานใกล้นิคมอุตสาหกรรมฯ กลุ่มผู้สูงวัย หรือกลุ่มคนรักสัตว์
ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมได้เคยคาดการณ์มาแล้วในช่วงเดียวกันของปี 2021 ว่า การซื้อของทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจาก Emotional Drive มากกว่าเหตุผลในเชิงตรรกะทั้งนั้น ดังนั้นแม้ว่าตามตรรกะของการลงทุนซื้อคอนโดในช่วงปีที่ผ่านมามันดูจะไม่เหมาะสมเลย แต่ก็มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเลยที่มุ่งซื้อโครงการเปิดตัวใหม่หลายต่อหลายตัว ด้วย Consumption Trigger ในเชิง Emotional ว่าเป็นการซื่อเพราะสัญชาติญานเป็น Gut Feeling ล้วนๆว่าโครงการนี้ฉันถนัด ฉันชอบ เพราะฉันเคยซื้อและประสบความสำเร็จในการทำกำไรจากโครงการแนวนี้มาแล้ว พูดง่ายๆก็คือสุขใจเมื่อได้ซื้อ ซึ่งเป็น Trigger ในเชิง Progressive Hedonism มากๆครับ
คลิกเพื่ออ่าน RE2021 ยืนหยัดอย่างฮีโร่เพื่อความอยู่รอด พร้อมแนะไอเดียการตลาดที่น่าสนใจในปีนี้
Source: Adaptation from Brandscape’s Tool
ทีนี้เราลองมา Recap เรื่องราว เหตุการณ์สำคัญๆในรอบปีที่ผ่านมาดูบ้างว่ามีประเด็นฮอตประเด็นไหน ที่น่าจดจำ และมีความสำคัญพอที่จะขยายวงออกมาเป็นเทรนด์ในการทำงานของปี 2022 กันบ้างครับ
คลิกเพื่ออ่าน สรุป 12 ประเด็นเด็ดของวงการอสังหาฯ ในปี 2021
1. สว. ที่ไม่ใช่สูงวัย แต่เป็นสุขเว่อร์ เมื่อกลุ่มตลาดผู้สูงอายุกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับตลาด Elderly & Wellness Residences หรือกลุ่มอสังหาฯ เพื่อคนสูงวัย ว่ามีการเปิดตัวเยอะมากที่สุดในรอบหลายปี จากเทรนด์ประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้นในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบัน ดังนั้นในวัยผู้สูงอายุบางคนต้องการแยกที่พักอาศัยออกมาส่วนตัว ที่มีบริการและการดูแลที่ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งในเรื่องส่วนตัวรวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ จึงมีดีเวลลอปเปอร์หลายเจ้าที่มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้และได้พัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสารพัดโครงการ Wellness Residence และ Living Solution ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายออริจิ้น กับโครงการ Origin Wellness Residence คอนโดมิเนียมพักอาศัย พร้อมบริการเสริมสร้างสุขภาพ และดูแลคุณภาพชีวิตยามเกษียณสำหรับผู้สูงวัย (Silver Age) ที่เจาะตลาดวัยเก๋ารับเมกะเทรนด์ Aging Society นำร่อง 2 คอนโดใหม่ “ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 107” และ “ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์ รามอินทรา” รวมมูลค่ากว่า 995 ล้านบาท
จุดแข็งของแบรนด์ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์ คือการนำความรู้ความเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภค (Customer Insight) และความต้องการของกลุ่ม Silver Age มาสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นรายละเอียดต่างๆ ในโครงการ อาทิ การออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) การออกแบบฟังก์ชันและดีไซน์ให้เหมาะกับผู้สูงวัย เช่น ตู้เสื้อแบบราวดึงปรับความสูง ราวจับและปุ่มเรียกพยาบาลกรณีฉุกเฉินภายในห้องน้ำ การเสริมบริการด้านการแพทย์ (Medical Service) ต่อยอดสู่โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยแบบครบวงจร โดยมีบริษัท ออริจิ้น เฮลแคร์ จำกัด (Origin Healthcare) เป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพแก่ลูกบ้าน เช่น การปรึกษาสุขภาพผ่าน Tele Consult นวดผ่อนคลาย Sleep Consult ตรวจสุขภาพการนอนหลับ โปรแกรมทรีทเม้นท์ปลอบประโลมผิว วิตามินบำบัด (IV Therapy) นอกจากนี้ ยังมีบริการจาก KIN Origin Healthcare ผู้พัฒนาธุรกิจบริการด้านสุขภาพเพื่อการดูแลด้านเวชศาสตร์การฟื้นฟูเฉพาะทาง และโรงพยาบาลพันธมิตรในบริเวณใกล้เคียงโครงการ ร่วมยกระดับศาสตร์การดูแลผู้สูงวัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งบริการตรวจสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บริการรถพยาบาลฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง Health Conference บรรยายสุขภาพทุก 3 เดือน และส่วนลดพิเศษสำหรับลูกบ้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และมอบคุณภาพชีวิตที่เหนือระดับแก่ลูกบ้านตลอดการพักอาศัย
ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 107
ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์ รามอินทรา
หรือจะเป็นโครงการที่ผมชอบมากที่สุดในปีที่แล้วอย่าง ดิ แอสเพน ทรี (The Aspen Tree) โดย MQDC โครงการแบ่งอาคารที่พักอาศัยออกเป็น Active Living Condominiums จำนวน 3 อาคาร จำนวน 250 ยูนิต และแบบ Sky Villa Residences 2 อาคาร เพียง 40 ยูนิต บนพื้นที่ขนาด 23-2-26.5 ไร่ เป็นโครงการที่พักอาศัยพร้อมมอบบริการดูแลตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนการใช้ชีวิตในระยะยาว ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เน้นบริการและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผสานโปรแกรม Health & Wellness โดยผ่านกิจกรรมระหว่างวันและสันทนาการต่างๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้สูงวัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ที่สำคัญ โครงการดิ แอสเพน ทรี ยังถือเป็นโครงการแห่งแรกที่มุ่งเน้นด้านการดูแลตลอดชีวิต ใส่ใจด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ โดยได้ร่วมทำงานกับ เบย์เครสต์ โกลบอล โซลูชั่น (Baycrest Global Solutions) องค์กรจากประเทศแคนาดาที่มีประสบการณ์มากกว่า 100 ปี และเป็นผู้นำระดับโลกทางด้านการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย
รวมถึงการใช้กลยุทธ์ Re-Development ที่มีการนำเอาโครงการเก่า และที่ดินที่มีอยู่แล้ว มาเปลี่ยนรูปแบบโครงการ อย่างเช่น นายา เรสซิเดนซ์ (NAYA Residence) โดย บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด คอนโดเพื่อผู้สูงวัยแห่งแรกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ออกแบบเพื่อให้ทุกท่านใช้ชีวิตในแบบ Active Ageing ได้ยาวนานที่สุด ยกระดับคุณภาพชีวิตสัมผัสวิถีแห่งความอยู่ดีมีสุข ก้าวสู่วัยอิสระอย่างมีคุณภาพ ห้องพักดีไซน์ใหม่ สะดวก ปลอดภัย อุ่นใจ 24 ชั่วโมง ใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ ด้วยแนวคิด Universal Design รวมถึงการเลือกสรรวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานผสานเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ทันสมัย DoCare by SCG เพื่อสร้างมิติใหม่ของที่อยู่อาศัยเพื่อวัยอิสระ มีห้องให้เลือกด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ขนาด 62 – 76 ตารางเมตร และ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ขนาด 105 – 120 ตารางเมตร จะเป็นรูปแบบการให้เช่าในระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะเช่าเต็มที่ 30 ปีหรือน้อยกว่า
2. ยกเลิก LTV ทุกระดับราคา ทุกสัญญา
ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 สำหรับมูลค่าบ้านที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และบ้านที่ระดับราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท คาดว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าว จะส่งผลให้สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบในปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนที่เติบโต 10.8%
สำหรับกลุ่มบ้านที่ระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท หากเป็นกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพื่ออยู่อาศัยจริง ยังคงเพดาน LTV 100% สำหรับสินเชื่อบ้าน แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น การตกแต่งบ้าน การซ่อมแซมหรือต่อเติม ซึ่งส่วนนี้เมื่อกลายเป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันจะมีดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักประกัน การปลดล็อกมาตรการ LTV ใหม่นี้ ส่งผลดีต่อที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา ทั้งโครงการมือหนึ่งและมือสอง ช่วยกระตุ้นทั้งกลุ่มเรียลดีมานด์ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนที่มีกำลังซื้อให้ตัดสินใจง่ายขึ้น
3. ดีเวลลอปเปอร์แห่สมัครเข้าโครงการ Elite Flexible One
Elite Flexible One เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมพิเศษของ ไทยแลนด์ อีลิท ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยเข้าร่วมโครงการสูงเกือบกว่า 20 บริษัท เนื่องจากมองว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในการขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น และเป็นการตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมจับมือสร้างความเชื่อมั่นทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น โดยปัจจุบันมีกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ส่งโครงการเข้าร่วมโปรแกรม Elite Flexible One แล้วกว่า 50 โครงการ และอีกหลายโครงการที่อยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า 80 โครงการ
โดยแต่ละกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างมีกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการตลาดและการขายแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งแนะนำบัตร Elite Flexible Oneให้เป็นที่รู้จักผ่านการโฆษณาในสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อ
มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แสนสิริ จำกัด บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไซมิสแอสเสท จำกัด (มหาชน) บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท Niche Pride Taopoon Interchange บริษัท 888 ทองหล่อ จำกัด บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท 1.6 ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และอื่นๆอีกมากมายแทบจะทุกบริษัท แต่สุดท้ายแล้วจะสร้างยอดซื้อและยอดโอนให้กับแต่ละดีเวลลอปเปอร์มากน้อยแค่ไหน คงต้องดูหลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วครับ
จากกรณีของแอชตัน อโศก คอนโดมิเนียมภายใต้การบริหารงานของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่กลายเป็น TALK OF THE TOWN ของวงการอสังหาฯ ที่ถูกคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวทุกฉบับ ร้อนถึงลูกบ้านภายในโครงการในขณะนั้นที่มีการโอนเข้าอยู่ไปแล้วถึง 85% ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะทำยังไงต่อไปดี
ซึ่งความคืบหน้าของคดีตอนนี้ก็คือ เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของเจ้าของห้องชุดโครงการแอชตัน อโศก ทางบริษัทร่วมค้า (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) พร้อมเจ้าของห้องชุด 297 ราย ได้ร่วมลงชื่อแนบท้ายคำร้อง ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 7 สิงหาคม 2564 (ในฐานะผู้ร้องสอด ไม่ใช่คู่ความโดยตรง) เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดแสวงหาข้อเท็จจริง และคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะต้องใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจริงอีกระยะหนึ่ง โดยในระหว่างนี้ ทางโครงการฯ ได้ช่วยประสานงานกับสถาบันการเงิน ในกรณีที่ลูกบ้านต้องการ Retention หรือรีไฟแนนซ์ เพื่อให้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลงนั่นเอง โดยทางอนันดาได้มีคำตอบเกี่ยวกับประเด็นคำถามต่างๆดังนี้
ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/stockjournoey/photos/1046127155958708
5. เสนา กับการรุกลงทุนในแบบ Shortcut ที่มากที่สุดในรอบหลายปี
ปีที่ผ่านมาเสนาฯเป็นบริษัทที่เข้าลงทุนในโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและเตรียมโอนมากที่สุด เพื่อสร้างรายได้ในแบบฉับพลันจากยอดโอน ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดรายอื่นๆก็ยังคงลังเลไม่แม้แต่คิดจะเปิดตัวโครงการ โดย เสนาฯ ได้มีการเข้าซื้อโครงการที่สร้างค้างไปแล้ว 3 ทำเล ประกอบด้วย 1.ย่านรัตนาธิเบศร์ 2.ย่านเจริญนคร 3.ย่านบางซื่อ-เตาปูน โดยทั้ง 3 โครงการพัฒนาภายใต้แบรนด์ใหม่ “เฟล็กซี่ (FLEXI)” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y & Gen Z โดย “เฟล็กซี่ (FLEXI)” จะถูกนำมาใช้กับโปรเจกต์แรก เฟล็กซี่ (FLEXI) รัตนาธิเบศร์ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเจรจาอีก 3 โครงการ มูลค่าซื้อ-ขาย ทั้งหมดคือ 6 โครงการ ในปี 2564 ราว 4 พันล้านบาท โดยในช่วงก่อนหน้านั้นเสนาฯ ก็ได้เข้าลงทุนใน บริษัท ภัทรนันท์ แอสเซท จำกัด ในสัดส่วน 100% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วของ บริษัท ภัทรนันท์ แอสเซท จำกัด ในมูลค่าเงินลงทุนรวม 385 ล้านบาท ทำให้ บริษัท ภัทรนันท์ แอสเซท จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเสนาฯ โดยดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาฯ รูปแบบคอนโดฯ โลว์ไรส์ 1 โครงการ ไฮป์ สาทร-ธนบุรี จำนวน 914 ยูนิต บนที่ดินประมาณ 7 ไร่
และล่าสุดปิดท้ายปีด้วยการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบมจ.เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ดี้ (JSP) จำนวน 1,014,600,000 หุ้น หรือ คิดเป็น 24.16% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วของ JSP ในราคา 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 507,300,000 บาท เตรียมต่อจิ๊กซอว์ครั้งสำคัญปี 65 ดาวกระจายพัฒนาโครงการรอบทิศกทม.- ปริมณฑล จนถึงต่างจังหวัด ต่อยอดจากพอร์ตสุดแกร่งในกลุ่มตลาด Super Economy ย่านชานเมืองของ JSP ซึ่งการไล่ซื้อโครงการและหุ้นต่างบริษัทฯที่เยอะขนาดนี้ก็น่าจะเป็นหลักประกันที่ดีในระดับหนึ่งว่าอย่างน้อยที่สุดปี 2022 นี้ทางเสนามีโครงการคอนโดให้โอน มียอดรอรับรู้รายได้เข้ามาเรื่อยๆแทบจะทุกไตรมาสแน่ๆครับ
6. อสังหาฯ ไทยเริ่มตื่นตัวกับ Metaverse
Metaverse เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามมองในปีหน้า ในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพราะโลกของการลงทุนในอนาคตนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ หรือมีโฉนดที่ดินรับรองเพียงอย่างเดียว แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ให้เข้ามาในโลกเสมือนมากยิ่งขึ้น บนประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้หลายบริษัทหันมาให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
พร้อมก้าวสู่โลก Metaverse โลกเสมือนจริง ที่สร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ มากขึ้น ล่าสุด เปิดตัว “น้องวันนี้” อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual human Presenter) คนใหม่ของอนันดาฯ จะเป็นตัวแทนในการแบ่งปันประสบการณ์และสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองยุคใหม่ (Gen C) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอนันดาฯ ที่เปิดรับสื่อใหม่ๆ และพร้อมเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่นับวันจะยิ่งหมุนเร็วยิ่งขึ้น หวังสร้างฐานลูกค้าของอนันดาฯ ในอนาคตต่อไป
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
MQDC จะเป็น Property Developer รายแรกที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่ใน Translucia และพัฒนาเมืองขึ้นมาในโลกเสมือน โดยเตรียมที่จะสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ MQDC Metaverse เพื่อรับผิดชอบในการพัฒนาเมืองและโครงการอสังหาริมทรัพย์เหนือจินตนาการแห่งนี้
และเชื่อมั่นว่า “Metaverse” จะมาขับเคลื่อน และพลิกโฉมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมในทุกวงการอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Entertainment ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรีเทล หรือแม้กระทั่งธุรกิจ Healthcare โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ จะสามารถใช้ “Metaverse” เป็นเครื่องมือที่จะสร้าง Division ธุรกิจใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และสร้างโซลูชั่นต่างๆ ในทุกมิติรวมไปถึงการสร้างสรรค์สังคมที่ดี
7. ใช้คริปโตซื้ออสังหาฯ
กลายเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่ผ่านมากับ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จนทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาใช้เป็นตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ ล่าสุดได้มาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนของบริษัทอสังหาฯ จะสามารถเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าจอง ค่าซื้อโครงการอสังหาฯ ค่าส่วนกลาง สำหรับผู้ที่มีคริปโทเคอร์เรนซีอยู่กับตัวเป็นจำนวนมาก หรือชาวต่างชาติ ก็สามารถโอนมาชำระได้ง่าย ส่วนผลทางอ้อมก็คือการได้พื้นที่ข่าว และราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไร รวมถึงอาจได้ในเรื่องของการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อีกด้วย โดยมีดีเวลลอปเปอร์นับสิบรายที่ประกาศนำ คริปโทเคอร์เรนซี มาใช้ในการซื้อขายโครงการอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น แสนสิริ อนันดา เอสซีแอสเสท ออริจิ้น เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ บมจ. บ้านราชประสงค์ Richmont’s Christie’s International Real Estate ชาญอิสระ แอสเซสไวส์ แกรนด์ แอสเสท เจ้าพระยามหาคร สิงห์ เอสเตท ฯลฯ
8. ต่อมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปอีก 1 ปี
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2565 รัฐบาลจะมีการขยายระยะเวลามาตรการอสังหาฯ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 2% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ในคราวเดียวกัน จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ประเภท อาคารที่อยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคาร หรือ ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท จากระยะเวลาที่จะหมดอายุลงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ออกไปอีก 1 ปี ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมาตรการดังกล่าวแม้จะมีเสียงตอบรับจากหลายฝ่ายว่าน่าจะเพิ่ม Gap ให้เป็น 5 ล้านบาท เพราะจะครอบคลุมฐานกว้างมากกว่านี้ เพราะกลุ่มตลาดต่ำสามล้านปัญหาก็คือการโดนแบงค์รีเจค มากกว่าการได้โปรโมชั่นเป็นลดค่าโอน นอกจากนี้โปรฯโอนส่วนใหญ่ทางดีเวลลอปเปอร์ก็มีอัดฉีดให้อยู่แล้ว หากฐานคนซื้อกลุ่มนี้ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ก็ไม่มีใครสามารถโอนได้อยู่ดี