RE2020 ทศวรรษใหม่อสังหาฯ “ตั้งรับเพื่อรอการเปลี่ยนแปลง” พร้อมแนะนำแนวทางการตลาดที่น่าสนใจในปีนี้
“It is not the strongest of the species that survive, nor the most intelligent, but the ones most responsive to change.” Charles Darwin
เชื่อแน่นอนว่าสภาพจิตใจของเพื่อนๆส่วนใหญ่ที่ทำงานวนเวียนอยู่ในสายอสังหาฯตอนนี้ ก็คงยังอยู่ในช่วงซึมยาว ไม่อยากจะกลับไปเริ่มทำงาน ทั้งๆที่ที่เพิ่งจะได้พักผ่อนเต็มที่กับการเฉลิมฉลองสู่ทศวรรษใหม่ ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาใช่ไหมครับ? ไม่ใช่แค่เพื่อนๆหรือคุณผู้อ่านที่รู้สึกแบบนั้นหรอกครับ พูดตรงๆว่าตัวผมเองในฐานะที่เป็น Publisher ที่มีโอกาสได้ทำ Review Content ให้กับโครงการอสังหาชั้นนำใหม่ๆหลายต่อหลายโครงการในแต่ละปี ก็ต้องบอกว่าปี 2019 ว่า Dark แล้ว ปี 2020 นี้ยิ่ง Darker มากกว่า เนื่องจากสัญญาณลบต่างๆที่เราเห็นมาตลอดปี 2019 นั้นล้วนแต่ทยอยส่งผลกระทบ แผ่ขยายออกมาในวงกว้าง ราวกับปากปล่องภูเขาไฟที่รอวันปะทุออกมา โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีอะไรมาหยุดยั้งได้เลย….วลีเด็ดสุดคลาสสิคของ Charles Darwin ที่ผมหยิบยกขึ้นมาเกริ่นนำ นั้นเป็นดั่งสัจธรรมที่นักการตลาดทุกคนต้องนำมากล่าวถึงในทุกครั้งที่องค์กร หรือแบรนด์ของเราเกิดปัญหา จนไม่อาจที่จะว่ายตามกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของโลกธุรกิจได้ทันอีกต่อไปว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์…เช่นเดียวกับในปีนี้ ที่เราทุกคนจะคงจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมมากในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการให้ตอบโจทย์กำลังซื้อที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ล้มหายตายจากไปในเชิงกายภาพ เพียงแต่เหตุผลดีๆในการซื้ออสังหาฯนั้นกลับเหลือน้อยลงทุกทีๆ จากเดิมลูกค้า 1 รายสามารถสร้าง Repeat Purchase ได้ 2-3 ครั้งในรอบปี จนเกิดเป็น Customer Lifetime Value นับหลักร้อยล้านบาท ก็กลายเป็นซื้อแค่ครั้งเดียวจบ ส่วนจะซื้อต่อไปไหมเดี๋ยวค่อยดูอีกทีจนกว่าจะขายห้องเดิมได้ เพราะไม่อยากแบกรับภาระทั้งจากภาษี ค่าเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนในการควานหาลูกค้ามาซื้อต่อที่ทำได้ยากกว่าเดิม
ดังคำกล่าวที่ว่าผลลัพธ์ในอดีตจะเป็นตัวสะท้อนถึงทิศทางในอนาคต เราลองมาย้อนดูกันว่าในรอบปีที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดอสังหาฯในบ้านเรานั้นดีหรือแย่เพียงใด และมีปัจจัยใดบ้างที่นำพาให้เกิดการก่อตัวของมรสุมขนาดมหึมาที่ปกคลุมตลาดมายาวนานข้ามทศวรรษ…ปี 2019 ที่ผ่านมาเราได้รับทราบข้อมูลที่สอดคล้องกันจากหน่วยงานวิจัยหลายๆแห่งว่าเป็นปีที่มีจำนวนยูนิตคอนโดใหม่เปิดขายน้อยที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และที่ Surprise มากไปกว่านั้นก็คือ แม้ว่าต้นทุนที่ดินจะแพงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีโครงการเปิดใหม่หลายโครงการที่ทำราคาขายได้ค่อนข้างถูกกว่าตลาด จนทำให้ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน…เรามาดูในภาพรวมกันก่อนว่ากูรูด้าน Market Intelligence ของแต่ละหน่วยงานวิจัยนั้นมีข้อมูลอะไรที่สำคัญที่น่าจะเอามา Recap ได้บ้างครับ
เริ่มต้นจากแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ที่ชี้ให้เห็นภาพว่า ด้วยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่สูง และปริมาณที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาโครงการต่างชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2019 เนื่องจากความเชื่อมั่นในตลาดที่ลดลง นอกจากนี้ ยอดขายลูกค้าต่างชาติก็ได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะยอดขายจากผู้ซื้อชาวจีนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการต้องขยับวันเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้า และเลื่อนการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการ แม้ว่าจะเริ่มต้นปีได้ดีแต่ตลาดก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2019 ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีพบว่ามีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ย่านใจกลางเมืองในระดับที่ต่ำที่สุดหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปีอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยในไตรมาส 3 ปี 2019 มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่เพียง 1,268 ยูนิต ขณะในไตรมาส 3 ปี 2018 กลับมีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่จำนวน 7,147 ยูนิต ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเพียง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยอยู่ที่ 279,740 บาทต่อตารางเมตร ณ ไตรมาส 3 ปี 2019 ด้านราคาขายเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในย่านรอบนอกใจกลางเมืองหรือมิดทาวน์เพิ่มขึ้นเพียง 0.05% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็น 99,943 บาทต่อตารางเมตร เนื่องจากดีเวลลอปเปอร์เกือบทั้งหมดมองเห็นว่าควรที่จะต้องพัฒนาโครงการที่มีราคาถูกลงเพื่อให้สัมพันธ์กับกำลังซื้อส่วนใหญ่ในตลาดที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น
ในขณะที่ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เผยว่า ปี 2019 ตลาดคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าอุปทานใหม่ปีนี้ลดลงจากปี 2561 ถึง 29% และราคาเฉลี่ยคอนโดในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 0.9% จาก 140,600 บาทต่อตารางเมตร เป็น 141,800 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับการปรับตัวขึ้นของราคาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ในขณะที่อัตราขายลดลง 17% โดยเกือบ 50% ของจำนวนหน่วยที่เปิดใหม่ทั้งหมด จะเป็นคอนโดมิเนียมระดับกลาง (Mid-Market) ซึ่งมีระดับราคาอยู่ที่ 75,000 – 110,000 บาทต่อตารางเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2018 ที่มีเพียง 27% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้พัฒนาโครงการมองเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ ตามความเป็นจริงมากขึ้น หลายโครงการมีการปรับเปลี่ยนสินค้า หรือชะลอการขายหลังจากเปิดขายครั้งแรกแล้ว โดยมีการปรับลดราคาหรือปรับเปลี่ยนแบบ เพื่อให้ราคาเหมาะสม ประเด็นที่น่าจับตามองอีกประเด็นหนึ่ง คือ ตลาด High-end ซึ่งมีการพัฒนาโครงการลดลงอย่างเห็นได้ชัด พบว่ามีสัดส่วนการพัฒนาใหม่เพียง 22% ในปี 2562 เมื่อเทียบปี 2561 มีสัดส่วนมากกว่า 40%
และสุดท้ายกับคุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ที่ให้ข้อมูลสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในปี 2019 มีทั้งหมดประมาณ 41,450 ยูนิตน้อยกว่าปี 2018 ประมาณ 37% ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลงของคนไทย อีกทั้งมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีผลต่อกำลังซื้อเช่นกัน โดยมีประเด็นในเชิงกลยุทธ์การพัฒนาโครงการที่สำคัญก็คือ ผู้ประกอบการกลับมาเน้นที่กลุ่มผู้ซื้อที่ไม่เคยขอสินเชื่อธนาคารมาก่อน ทำให้ที่อยู่อาศัยในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิตหรือคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร มีมากขึ้นแบบชัดเจนในไตรมาสที่ 3/2019 ก่อนเกณฑ์ LTV ใหม่มีผลในไตรมาสที่ 4/2019 เช่นเดียวกับการเพิ่มสัดส่วนของโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น เลี่ยงการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมหรือเลือกเปิดในทำเลใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาโครงการราคาไม่สูงเกินไปได้
Source: https://www.facebook.com/PropertyinDNA
หากข้อมูลของสำนักวิจัยหลักทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความหวาดหวั่นใจให้กับคุณผู้อ่านที่มองว่าบริษัทของตัวเองมีจุดแข็งในเรื่องของกำลังซื้อต่างชาติโดยเฉพาะจากชาวจีนที่มากล้น เนื่องจากมีต้นกำเนิดเป็นบริษัทแม่ เงินทุนหนาอยู่ที่ประเทศจีน หรือฮ่องกง หรือไม่ก็ประสบความสำเร็จมากมายจากการไปออก Roadshow ที่หัวเมืองใหญ่ต่างๆในประเทศจีน อีกทั้งยังมีเอเจนท์น้อยใหญ่ช่วยขายให้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ขอให้ลองย้อนไปดูข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ที่อัพเดทข้อมูลยอดโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 ว่าภาพรวมปี 2018 มีหน่วยโอน 13,113 หน่วย อยู่ในกรุงเทพฯ 51% รองลงมา ภาคตะวันออก 35%, ภาคเหนือ 9% รวม 3 ตลาดนี้เท่ากับ 90% ของทั้งประเทศ มูลค่าโอน 55,007 ล้านบาท พื้นที่รับโอน 545,518 ตารางเมตร อยู่ในกรุงเทพฯ 37,561 ล้านบาท สัดส่วน 68% ของประเทศ รองลงมาภาค ตะวันออก 20% ภาคเหนือ 5% ในขณะที่เปรียบเทียบ 9 เดือนแรกของปี 2019 โซน กทม.-ปริมณฑล หน่วยโอนลดลง จาก 51% เหลือ 49% อยู่ที่ 9,427 หน่วย มูลค่า 35,987 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2018 หน่วยโอน 9,260 หน่วย เท่ากับมากกว่า 1.8% ต่างกันเล็กน้อย ฟังดูอาจจะไม่มีนัยอะไรที่สำคัญเพราะลดลงน้อยมาก แต่ต้องอย่าลืมว่า ยอดโอนปี 2019 เป็นยอดซื้อที่มาตั้งแต่ปี 2017 แต่เพิ่งมาสร้างเสร็จเอาช่วงปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่ยังต้องจ่ายค่าดาวน์สูงถึง 30% จึงทำให้ปีที่ผ่านมา สามารถผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับยอดขายที่เกิดขึ้นในปี 2019 นี่น่ะสิ ที่น่าจะสร้างปัญญาในการโอนขึ้นมาได้ในอีก 1-2 ปีให้หลัง เนื่องจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่องกำลังซื้อของคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนอย่างเทรดวอร์ และปัญหาเงินบาทที่แข็งค่ามากเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ตอนนี้หากลูกค้าจีนต้องการที่จะโอนคอนโดก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าเดิมอีกถึง 20% โดย ณ ไตรมาส 3 ปี 2019 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับเงินหยวน และแข็งค่าขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหากเทียบกับปีที่แล้วซึ่งนั่นหมายความว่าคอนโดในกรุงเทพฯอาจจะไม่เหลือ Gap พอที่จะสร้างกำไรในแบบที่ชาวจีนต้องการได้อีกต่อไป…การเลือกทิ้งดาวน์บางทีอาจจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก็ได้ ซึ่งอย่าลืมว่าในช่วงปีที่ผ่านมามีดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำมากมายที่ตัดล็อต 49% ของทั้งโครงการเอาไปขายคนต่างชาติแบบเหมาๆเลยทั้งนั้น ซึ่งหากเกิดกรณีที่ไม่รับโอนขึ้นมาก็อาจจะส่งกระทบต่อโครงการในสัดส่วนที่มากพอสมควร ไม่แน่ว่าในปีนี้เราอาจจะได้เห็นปรากฎการณ์คนต่างชาติซื้อ/โอนคอนโดในราคาที่ถูกกว่าคนไทยก็เป็นได้ เพราะดีเวลลอปเปอร์มองว่าเป็นการดีกว่าที่จะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำตลาดเพื่อหาลูกค้าใหม่ทั้งหมด
กล่าวโดยสรุปก็คือปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดซึมยาวข้ามปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นก็มาจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้อย่างเทรดวอร์ ภาระหนี้ครัวเรือน เงินบาทแข็งค่า และเมื่อรวมกับสารพัดมาตรการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ดูท่าจะบั่นทอนกำลังซื้อมากกว่าเป็นการแก้ปัญหา อาทิ มาตรการการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV -Loan to Value) ที่ส่งผลโดยตรงต่อนักลงทุนและนักเก็งกำไร (ล่าสุดเห็นมีข่าวว่าจะมีมาตรการผ่อนปรน เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว Developer ก็ยังเชื่อลึกๆว่าเดี๋ยวก็คงมีการเปลี่ยนแปลง สังเกตจากหลายๆรายก็ยังผ่อนน้อยเหมือนเดิม ไว้ลุ้นกันตอนโอนอีกที หรือไม่ก็ใช้วิธีทำราคาหน้าสัญญาเพิ่มขึ้นมาอีก 25% เพื่อให้กู้ได้ตามยอด) มาตรการคำนวณอัตราความสามารถในการชำระหนี้สิน (Debt Service Coverage Ratio -DSCR) ที่อาจสูงถึง 50% ในบางธนาคาร ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนทัศนคติของคนที่ต้องการมีบ้านหลายๆหลังเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัว จนกลายเป็นมีแค่หลังเดียวพอเพราะกลัวภาระที่จะต้องเพิ่มขึ้น ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตลาดอสังหาฯเติบโตแบบติดลบดังเช่นในปีที่ผ่านมา เอาเฉพาะแค่ในกลุ่มตลาดคอนโดใหม่แบรนด์ดัง ก็เลื่อนการเปิดตัวออกไปคิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 2 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว!
ทั้งนี้มาตรการจากภาครัฐที่ส่งผลบวกก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง อาทิ การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายจาก 1.5% เป็น 1.25% การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1 % เหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยจนถึงวันที่ 24 ธ.ค.2563/ มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยให้คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 5 หมื่นล้านบาท และล่าสุดเมื่อปลายปีอย่างโปรโมชั่น Cash Back 50,000 บาทกับ “โครงการบ้านดีมีดาวน์” ที่ช่วยค่าผ่อนดาวน์ จำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย สำหรับ 1 แสนรายที่เข้าร่วมโครงการ…แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เกิด Impact อะไรมากมาย กับตลาดโดยรวมเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิ์เพียงแค่บางเซกเมนท์ในตลาด อีกทั้งส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าเกณฑ์เหล่าน้ก็ยังติดอยู่ในบ่วงของการมีหนี้ครัวเรือนที่สูงจนกู้ไม่ได้อยู่ดี
เมื่อทางเดินข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อีกทั้งไฟส่องสว่างริมทางยังติดๆดับๆอยู่เป็นระยะ… แล้วนักการตลาดอย่างเราจะทำอย่างไรในปีนี้ดีครับ? ในบทความนี่ผมคงจะไม่ลงลึกไปถึงรายละเอียดเดี่ยวกับเทรนด์การพัฒนาโครงการอสังหาฯที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะได้เห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นในปีนี้ หรืออีกหลายๆสิ่งที่คาดการณ์ไปแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่งจะทยอยพัฒนาออกมาเสร็จจนเห็นเป็นรูปธรรม แต่ถ้าใครอยากจะลองคิดทบทวนถึงเทรนด์ต่างๆก็ลองไปหาอ่านจากบทความที่ทางผมได้เคยนำเสนอไปแล้วตามนี้ครับ
RE2019 “ปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันตลาด” กับแนวทางและไอเดียที่น่าสนใจในปีนี้
Real Estate Trend 2019 เศรษฐกิจตกต่ำคือตัวเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในภาคอสังหา
ผ่ามุมมองธุรกิจอสังหาฯ 2018 กับหลายประเด็นทางการตลาดที่ควรต้องเก็บไปคิด
Real Estate Trend 2018 ปีนี้ผู้บริโภคในตลาดอสังหาฯ กำลังอยากได้อะไร