Exclusive Interview : เจาะรายละเอียดธุรกิจใหม่จากเสนา ไม่หยุดแค่การสร้างแล้วขาย แต่ลงลึกถึงสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกช่วงชีวิต
เริ่มต้นปีใหม่ 2023 อย่างสดชื่นด้วยปัจจัยบวกฟื้นตัวของวงการอสังหาไทย
ทิศทางอสังหาฯปี 2023 ปีนี้แม้จะมีปัจจัยบวกมาบ้างเช่นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและภาพรวมของการเปิดตัวโครงการมีเยอะขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทุกฝ่ายเชื่อว่าปี 2023 นี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว แต่จากบริบทการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของทั้งผู้บริโภคยุคเก่า และความต้องการของ New Gen ใหม่ ๆ ในเรื่องของวิถีชีวิต การมองโลก หนี้ครัวเรือน ความสามารถในการผ่อนชำระ รวมถึงการใช้เงินจับจ่าย ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของดีเวลลอปเปอร์ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ว่าบางทีธุรกิจอสังหาฯประเภท Residential อาจถึงจุดอิ่มตัวในเร็ววัน
จึงส่งผลให้ดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำหลายรายเบนเข็มมาโฟกัสในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจในแบบยั่งยืนมากขึ้น มองถึงการขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับ Mega Trend ของโลกและความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงชีวิตมากกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ด้านการพัฒนาโครงการเพื่อขายเสร็จแล้วจบเพียงด้านเดียว แต่จะปรับตัวไปเน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับ SENA (บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)) ในฐานะที่เป็นดีเวลลอปเปอร์ที่มีจุดยืนในเรื่องของการพัฒนาโครงการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้พลังงานทดแทนอย่าง Solar Energy มาอย่างยาวนาน และในปี 2023 นี้ก็ร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญจากประเทศญี่ปุ่น อย่าง Hankyu Hanshin Properties (HHP) ในการพัฒนาโมเดล “บ้านพลังงานเป็นศูนย์” (Zero Energy Housing) อีก จึงน่าติดตามว่าในปี 2023 นี้ทาง SENA จะมีแผนอะไรในการสร้างธุรกิจใหม่ครั้งสำคัญภายใต้ Strategic Direction ใหม่ที่กำหนดไว้ว่า “SENA: The Essential Lifelong Trusted Partner” โดยเมื่อเร็วๆนี้ ทีมงาน Propholic.com ได้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณแม่ยกคนใหม่แห่งวงการอสังหาไทย ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่าทิศทางในการดำเนินธุรกิจครั้งใหม่ของบริษัทฯจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของทุกคนได้ในแง่มุมไหนบ้าง ไปติดตามรายละเอียดกันได้เลย
เกริก Propholic.com : จากที่อยู่ในแวดวงสื่ออสังหาฯ มา ผมสังเกตว่า SENA เป็นเพียงไม่กี่ในดีเวลลอปเปอร์ที่โฟกัสไปที่การทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน ในมุมมองผมคิดว่าสองถึงสามปีที่ผ่านมาดีเวลลอปเปอร์ไม่สามารถชูประเด็นเดิมๆ อย่างการประกาศภารกิจในเชิงปริมาณ เช่น จำนวนโครงการที่จะพัฒนา จะสร้างคอนโดกี่ยูนิต จะทำโครงการแนวราบกี่หลัง จะผุดขึ้นในทำเลไหนบ้าง แต่เหล่าดีเวลลอปเปอร์เค้าเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เช่น บอกว่าเปลี่ยนวิธีในการบริหารการทำงานแบบใหม่ บอกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วนะ บอกว่าเทรนด์การอยู่อาศัยก็เปลี่ยน ในขณะที่เทคโนโลยีหลายๆ อย่างราคาถูกลง เป็นต้น ยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ SENA Solar House ที่เสนาเคยบุกเบิกทำบ้านติดโซลาร์เซลล์ แต่เดี๋ยวนี้หลายๆ เจ้าก็ทำเช่นกัน เมื่อก่อนต้นทุนบ้านโซลาร์อาจจะเคยแพงแต่เดี๋ยวนี้ถูกลง ดีเวลลอปเปอร์ทุกเจ้าก็พยายามทำ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของดีเวลลอปเปอร์ว่าต่อไปนี้จะมุ่งตรงไปที่เรื่องของพลังงานทดแทน และเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) กันเยอะมาก หลายเจ้าเลย ผมขอถาม ดร.ยุ้ย ในฐานะผู้บริหาร SENA มองว่าทิศทางในการธุรกิจของ SENA ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ไหม และคิดว่ามีอะไรที่ต้องทำในปี 2023 นี้บ้างครับ
ดร.ยุ้ย SENA : เราคงไม่กล้าพูดว่าเป็นผู้นำด้าน Solar House นะแต่เราแค่รู้สึกว่าเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งเฉยๆ ถ้านึกย้อนไปตอนนั้นเรายังยืนอยู่กับ Product เดิมนั่นคือบ้านอยู่ เราแค่รู้สึกว่าอยากทำสินค้าเรายังไงให้มันไม่ส่งผลต่อ Climate Change ไปมากกว่านั้น ไม่ทำให้มันเกิด Carbon Credit ไปมากกว่านี้ เราคิดแค่นั้นแล้วก็ทำมาเรื่อยๆ
หลังจากช่วงโควิดเกิดมาก็มีคีย์เวิร์ดคำว่า New Normal เกิดขึ้น สิ่งที่เรามองต่างจากคนอื่นก็คือ New Normal เนี่ยไม่ได้หมายถึงเฉพาะในบริบทอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยที่เราทำเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะออกแบบบ้านใหม่ยังไงให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ New Normal แต่มันมีประเด็นอื่นๆ ของสังคมเข้ามาเชื่อมต่อกันด้วย ประกอบกับหลังจากที่เราได้ร่วมงานทำนโยบายกับท่านผู้ว่ากรุงเทพมหานครก็ทำให้เราได้เห็นสภาพสังคมโดยรวม แต่ถ้าทำธุรกิจอสังหาอย่างเดียวเราก็จะทำตอบโจทย์โฟกัสแค่เฉพาะ Sector ของเราตามปกติและมันยากเหมือนกันนะที่เราจะเห็นทุกมิติทุก Segment แต่พอเราไปทำนโยบายกับท่านผู้ว่ากรุงเทพฯ มันกลายเป็นการบังคับที่ทำให้เราได้เห็นกว้างกว่าสิ่งที่เราเคยโฟกัส
ปัญหาสังคมที่เราพบมาคือ จริงๆ แล้วการสร้างที่อยู่อาศัยนั้นไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่เราคิด คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าสร้างที่อยู่อาศัยขายนั้นดีเพราะเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องซื้อ ประโยคนี้อาจจะใช่… แต่ว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ซื้อบ้านไม่ได้นะ ถามว่าทำไมซื้อไม่ได้ เหตุผลเพราะว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่างกันเยอะมาก ราคาบ้านเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้ไม่เพิ่มตาม นี่คือปัญหาระดับชาติและปัญหานี่ไม่เล็กลงด้วย ถามต่ออีกว่าแล้วเราจะแก้ไขยังไง ดีเวลลอปเปอร์อย่างเราจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ จะสร้างขายแบบเดิมไปเรื่อยๆ แบบนี้หรอ คำถามนี้เป็นคำถามที่เราเอามาคิด
ถ้าเราไม่ได้ทำงานด้านนโยบายสังคมกับทางผู้ว่ากทม. เราคงไม่มั่นใจกับ “ปัญหาคนซื้อบ้านไม่ได้” ขนาดนี้ จริงๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้มันมีมานานตั้งแต่ว่าอ่านข้อมูลจาก World Bank ก็ทำรายงานบอกมาว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงนั้นเป็นปัญหาระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น คนรุ่น Gen Z อายุปัจจุบันราวๆ 20-30 ปีจะสะสมความมั่งคั่ง (Wealth) ได้ยากมากถ้าเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ อย่าง Gen X อายุปัจจุบันราวๆ 40-50 ปี ซึ่งมีความสามารถในการสะสม Wealth ได้ง่ายกว่า Gen Z มาก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาพูดประมาณนี้ซึ่งไม่แปลกใจเลย
ตอนที่เราทำงานกับผู้ว่ากทม. พบว่า รายได้ของคนกรุงเทพฯ ลดลงปีละ 9% เพราะเงินเฟ้อ (Inflation) ชนะรายได้ แต่ในขณะที่ราคาบ้านไม่เคยลดลง ถามว่าเพราะอะไร? คำตอบคือ “ราคาที่ดินไม่เคยลดลง” ราคาที่ดินนั้นไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะเจอวิกฤติโควิดหรือว่าเจอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ไม่เคยตรึงราคาที่ดินไว้ได้เลย ราคาที่ดินเอาชนะหมดทุกปัจจัย ดังนั้นเราในฐานะดีเวลลอปเปอร์จะคิดประเด็นเรื่อง New Normal ในแง่ว่าอะไรบ้าง ใช่ประเด็นแค่ผู้คนต้องการพื้นที่ในบ้านเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่นั้น มันไม่ใช่ทิศทางแก้โจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้เลย
เกริก Propholic.com : ผมมองว่า ดร.ยุ้ย เหมาะดำรงตำแหน่งในองค์กรภาครัฐนะครับ เพราะจากประสบการณ์ ดร.ยุ้ยทำทั้งคอนโดมิเนียมในกลุ่ม Super Economy ซึ่งมันมาจากใจหรือ Inner ของดร.ยุ้ยที่บอกว่า “ความเหลื่อมล้ำมันมีมากขึ้น” ต้องการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อได้บนทำเลที่ไม่จำเป็นต้องติดรถไฟฟ้าก็ได้ ผมคิดว่าควรจะต้องกระจายให้ทั่วถึงมากกว่าการทำงานกับแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดูเหมือน ดร.ยุ้ยมองว่าภาพกว้างจากการทำงานในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่ากทม. แล้วก็มารวมกับไอเดียในการพัฒนาโครงการของ SENA
ดร.ยุ้ย SENA : เราขอตั้งใจทำงานกับ SENA นี่แหละดีแล้ว ถ้าไปเป็นคนภาครัฐก็ต้องทำหน้าที่วางกฎระเบียบต่างๆ (Regulate) แล้วให้ผู้ดำเนินการ (Player) คนอื่นๆ เข้ามาทำแทน จริงๆ แล้วสิ่งที่เราคิดมันเยอะมากกว่านั้น เราไม่ได้คิดแค่บริบทของบ้าน แต่เป็นเรื่องของบริการด้านสุขภาพหรือ Health Care เพราะอนาคตจะยิ่งขาดแคลนมากขึ้น เวลาไปชุมชนแออัดเนี่ยสิ่งที่เป็นปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องอะไรนะ แต่ปัญหาคือการเข้าถึงยากของบริการด้านสุขภาพ
ในชุมชนไม่มีผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (Health Care Provider) โดยปกติจะมี 2 ระดับใหญ่ๆ คือ ระดับบริการสุขภาพของเอกชนก็คือจะพัฒนาไปไกลเลย ส่วนอีกระดับหนึ่งของบริการสุขภาพของภาครัฐซึ่งมีระบบ 30 บาท รักษาทุกโรคและมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือระบบอะไรก็แล้วแต่ที่ภาครัฐจัดไว้ให้ แต่ปัญหาคือว่า Supply ของผู้ให้บริการที่จะมารองรับอุปสงค์นั้นไม่เพียงพอ กล่าวคือ Supply สร้างไม่ทันกับ Demand ที่มีเยอะมาก ยิ่งเวลาผ่านไป Supply ก็ยิ่งขาดแคลนไปเรื่อยๆ แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนี้? คำตอบคือสังคมไทยเรามีผู้สูงอายุเต็มไปหมดเลย ผู้สูงอายุเยอะมากๆ ขณะที่บริการของโรงพยาบาลไม่ได้เกิดขึ้นง่าย
สิ่งที่สังคมควรทำคือการจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) ว่าโรงพยาบาลควรจะต้องทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แล้วเอาสิ่งที่โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องทำหรือเสียทรัพยากรเอามาให้คนอื่นทำแทน เช่น การจัดให้มีบริการปฐมภูมิ (Primary Care) บริการสุขภาพใกล้ชิดชุมชน เพื่อดูแลรักษาอาการเบื้องต้นสำหรับคนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยแบบไม่ฉุกเฉิน เป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้และสามารถทำให้จบที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล
ทางหน่วยงานกทม. เป็นคนให้ไอเดียเรื่องบริการสุขภาพนี้มา ซึ่งเราก็เอาไอเดียมาทำโครงการของเรา เดิมที SENA เรามีไอเดียเกี่ยวกับ Smart Living อยู่แล้วจึงเอามาต่อยอด ก็กลายเป็นว่าถ้าใครอยู่บ้านอยู่คอนโดมิเนียมของเสนาก็จะได้รับบริการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) วิดีโอคอลล์กับบุคลากรการแพทย์ได้เลย ไอเดียนี้สานต่อจากที่เราได้ดูแลเมืองนั่นแหละ