เจาะใจ ดร.ยุ้ย กับมุมมองต่อตลาดอสังหาท่ามกลางภาวะวิกฤติ และวิเคราะห์จุดแข็งของคอนโด “เสนาคิทท์” หมัดเด็ดของเสนาในปีนี้
เจาะใจ ดร.ยุ้ย กับมุมมองต่อตลาดอสังหาท่ามกลางภาวะวิกฤติ และวิเคราะห์จุดแข็งของคอนโด “เสนาคิทท์” หมัดเด็ดของเสนาในปีนี้
ปี 2021 นี้โดยเฉพาะช่วงกลางปีเป็นต้นมา ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติของบ้านเมือง เราต่างรับรู้ว่าสถานการณ์โรคระบาด ไม่ได้ดีขึ้น ทุกคนต่างกำลังสู้อยู่อย่างสุดตัวเต็มกำลัง แต่ผลกระทบจากปัญหาโรคโควิดยังทุบซ้ำเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง และวงการอสังหา ก็ได้รับผลกระทบต่างกันไป ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องประสบกับปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องการขายและการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ยังมีอีกหลายรายที่ยังคงเดินหน้าอย่างมั่นคงพร้อมสร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงการที่แตกต่างในแบบยั่งยืน เพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้าที่ยังคงมีดีมานท์ในการซื้ออยู่
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ทางทีม Propholic มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ยังคงรักษาสถานะในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งในเชิงผลประกอบการ การเปิดโครงการใหม่ และผลกำไรในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อรับฟังมุมมองต่อตลาดอสังหาในภาพรวม วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง ผลงานต่างๆ ท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่ค่อยสดใสแบบนี้ ตลอดจนภารกิจการสร้างคอนโดมิเนียมแบรนด์เสนาคิทท์ (SENA Kith) ที่กำลังทำอยู่เพื่อแก้ปัญหาสังคม และมีประเด็นอื่นๆ ที่จะทำให้เรารู้จักตัวตนของความเป็น SENA มากขึ้นว่าจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง เรามาเริ่มกันเลยครับ
PH : ในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าธุรกิจอสังหาอยู่ในยุคที่ค่อนข้างจะ Recession แต่จากที่ดูผลประกอบการของ SENA ไตรมาสแรกปี 2021 พบว่ามีกำไรสองร้อยกว่าล้านบาท นับว่า SENA เป็น 1 ในไม่กี่บริษัทที่ยังคงเติบโตอย่างมั่นคงได้ อยากถาม ดร.ยุ้ย เกษรา ว่า SENA คิดอย่างไรกับช่วงเวลาปัจจุบันนี้ที่ดูเหมือนจะเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในแง่ผลประกอบหรือ sentiment ภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ไทย
ดร.เกษรา SENA : พอพูดถึงผลประกอบการบริษัทพัฒนาอสังหา ความเห็นส่วนตัวคิดว่าหลายคนมักจะเทียบแบบปีต่อปี (Year-to-year) แต่ว่าธุรกิจอสังหามันขึ้นอยู่กับ Growth การเติบโตของบริษัทแบบ organic การเติบโตของจำนวนโครงการ อย่างเช่นในอดีตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว SENA อาจจะผลิตโครงการใหม่เปิดปีละ 20 โครงการซึ่งจะทำให้มี Organic growth ที่สูง ดังนั้นเราจึงมีผลประกอบการที่ดี แต่ไม่ว่าจะเป็นของ SENA หรือบริษัทอื่นก็ตาม ปี 2021 แบบนี้เราอาจจะบอกได้ว่ามันแย่ลงเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเคยคาดหวัง ผลประกอบการจะเทียบกันแบบปีต่อปีไม่ได้เพราะว่าแต่ละบริษัทแต่ละคนก็จะมีการเติบโต มี growth ที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนั้นก็จะมาจากเงินทุนด้วย ในอดีต SENA ก็ไม่สามารถเปิดโครงการใหม่ได้มากเป็น 20 โครงการต่อปีแบบนี้ แต่ตอนนี้ SENA ทำได้แล้ว เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบผลประกอบการต้องเปรียบเทียบด้วย Size หรือขนาดของบริษัทที่โตขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าการเติบโตด้วย size ขนาดนี้ และถ้าจะพิจารณาดูผลประกอบการของ SENA ถ้าหากว่าไม่ได้เกิดเหตุการณ์โควิดแบบนี้ เราก็คาดว่าผลประกอบการน่าจะดีกว่านี้ได้ ผลประกอบการเกิดขึ้นจากการเติบโตของบริษัทแบบขั้นบันได โตไปเรื่อยๆ เราไม่ได้อยู่บนบันไดขั้นเดิม
และประเด็นที่ว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาตอนนี้มันแย่ที่สุดแล้วหรือยัง ความเห็นส่วนตัวคิดว่ายังไม่แย่ที่สุด อย่างเช่นข่าวล่าสุดที่ผ่านมาของวงการอสังหาก็ต้องพบความเจ็บปวด อยู่ๆ รัฐบาลก็สั่งให้หยุดก่อสร้าง ซึ่งการหยุดก่อสร้างเท่ากับว่าให้หยุดผลิตนั่นเอง ดังนั้น supply chain ของเราจะถูกตัดออกไป แต่ยังดีที่รัฐบาล ก็ยังไม่ได้บอกให้เราหยุดขาย เขาไม่ได้บอกให้เราหยุดโต และลูกค้าเองก็ยังไม่ได้หยุดซื้อด้วย ก็เลยคิดว่าวันนี้ยังไม่เลวร้ายที่สุด แต่ถ้าวันไหนก็แล้วแต่ที่ทั้งผลิตไม่ได้ ลูกค้าก็หยุดซื้อ ลูกค้าหยุดโอนด้วย ช่วงเวลานั้นแหละคือ worst case เป็นจุดที่เลวร้ายที่สุด
PH: ตอนนี้ทาง SENA โดนผลกระทบอะไรบ้างไหม?
ดร.เกษรา SENA : ตอนนี้ SENA อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ธุรกิจเรายังพอไปต่อได้ แต่ในภาพรวมก็อยากให้มันดีกว่านี้ เราคิดว่างบดุลของเราควรจะดีกว่านี้ได้เพราะยังมีโปรเจคที่ยังไม่ได้ทำอยู่อีกพอสมควร ปัจจุบันนี้การขอ EIA ก็ใช้เวลาขั้นต่ำ 8-9 เดือนไปแล้ว แต่สมมุติว่า EIA ผ่านแล้วสามารถสร้างโครงการได้ก็จริง แต่ถามว่าตอนนี้มันใช่เวลาที่จะให้เปิดโปรเจคมั้ย ก็คงไม่ใช่ เพราะTiming ไม่เหมาะสม ตอนนี้เรียกได้ว่าเรามีของเต็มมือ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องซื้อที่ดินซื้ออะไรต่างๆ เอาไว้เป็น resource เพื่อทำธุรกิจให้เหมาะกับสภาพตลาด เพราะฉะนั้นถ้าดูตามงบดุลก็ต้องถือว่าแย่ลงเพราะเราจะต้องไปซื้อเก็บเอาไว้ ถ้าเปรียบเหมือนร้านอาหารก็ต้องบอกว่าตอนนี้ต้องออกไปตุนของที่ยังขายไม่ได้ แต่ก็ยังต้องเปิดร้านอยู่นะ ดังนั้นงบดุลต้องมีภาระหนักอยู่แล้ว และเรามีหน้าที่ต้องทำให้มันดีกว่านี้
PH: ที่ผ่านมาในวงการอสังหาก็จะหนีจากคอนโดไปแล้วเปลี่ยนแผนไปสร้างแนวราบแทน แต่ตอนนี้แนวราบก็ไม่ได้ดีแล้ว เพราะว่าต้องรอบ้านสร้างเสร็จก่อน ถ้าอย่างนั้นเราควรจะทำอะไรดี
ดร.เกษรา SENA : ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกแต่แรกว่าบ้านแนวราบคือ safe heaven คาดว่าคนส่วนใหญ่ อาจจะมองว่าทาวน์เฮ้าส์คือตลาดที่ปลอดภัยหรือเป็น save heaven หลายคนคิดว่าคอนโดคงไม่มีใครซื้อแล้วหรอกเพราะคนอยากอยู่บ้าน แต่ก็จริงอยู่ที่ว่าบ้านนั้นใครๆ ก็อยากอยู่ อยากได้พื้นที่ใหญ่ๆ แต่เพราะกำลังซื้อไม่ถึง กำลังซื้อที่มีจำกัด คนก็เลยต้องซื้อทาวน์เฮ้าส์ ดังนั้นเราจะเห็นว่า Supply ของทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้นมหาศาล ก็เพราะว่าทุกคนคิดว่าทาวน์เฮ้าส์คือ Safe haven ทุกคนก็กรูไปที่ทาวน์เฮ้าส์ในขณะที่ราคาที่ดินไม่ได้ถูก ลงเลย โดยปกติแล้วต้นทุนขายหรือ Cost of goods sold (COGS) ของบ้านนั้นสูงกว่าคอนโดอยู่แล้ว เมื่อราคาที่ดินไม่ถูกลงเลยแล้วราคาทาวน์เฮาส์จะถูกลงได้ยังไง นอกจากจะยอมตัดกำไร ตลาดทาวน์เฮาส์มีคนเข้ามาทำเยอะขึ้นมหาศาล จริงอยู่ที่แม้ลูกค้าอาจจะเปลี่ยนมาซื้อทาวน์เฮ้าส์มากขึ้นข้อนี้ไม่เถียง แต่ว่าทาวน์เฮ้าส์ก่อนที่จะมีคนแห่มาทำในช่วงนี้เดิมทีก็มีเยอะ อยู่แล้ว ดังนั้นเราในฐานะ SENA ไม่ได้รู้สึกว่าการเปลี่ยนตัวเอง ไปทำแนวราบจะทำให้เราเติบโตได้ แม้ทาง SENA จะเปลี่ยนไปทำแนวราบบ้างแต่ไม่ได้คิดว่าต้องเลิกสร้าง คอนโด แล้วทำแนวราบอย่างเดียว
เราไม่ได้คิดว่าการทำแนวราบเป็นการทบทวนกลยุทธ์หรือ Strategy revision ของเสนา เราคิดว่ามันมีเหตุผลตั้งแต่แรกว่าทำไมคนถึงซื้อคอนโด เช่น ซื้อเพราะราคา เพราะการเดินทาง ที่อยู่อาศัยย่อมพ่วงมากับการเดินทางอยู่แล้ว สภาพตอนนี้แม้จะ New Normal ก็ตาม แต่จริงๆ เรายอมขับรถไกลๆ ยอมรถติดนานๆ จริงหรือเปล่า เรายังรู้สึกว่าความต้องการที่อยู่อาศัยมันมีกรอบกว้างกว่านั้นอีกเยอะ ดังนั้นเราจึงไม่ไปทำแต่แนวราบเท่านั้น SENA ก็ทำแนวสูงด้วย
PH: สิ่งที่ดร.เกษรากล่าวมาทั้งเรื่อง Strategy Revision เรื่องการเติบโตแบบ Orginic growth ของ SENA นับตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ คาดได้แน่นอนว่าคงมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องที่กว่าจะมาถึงจุดที่ยืนตอนนี้ ปัจจัยหนึ่งที่มองเห็นชัดคือการที่ SENA มีพาร์ทเนอร์เป็นดีเวลอปเปอร์ญี่ปุ่นอย่าง Hankyu (ฮันคิว) ที่ค่อนข้างจะสนิทสนมกับ SENA เป็นอย่างมาก สังเกตว่า Hankyu Hanshin จะเข้าใจความเป็นตัวตนและเชื่อใจ SENA ไม่ว่าอยากว่าจะทำอะไรก็จับมือร่วมกันได้ดี แม้ว่า SENA จะไปเปิดทำเลแปลกในสายตาคนญี่ปุ่น แต่ก็ร่วมลงทุนแล้วโตไปด้วยกัน ประเด็นการมีพาร์ทเนอร์กับทาง Hankyu Hanshin นี้มีความเห็นอย่างไร
ดร.เกษรา SENA : เราคงไม่ปฏิเสธว่าการมี Hankyu Hanshin มาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์หรือ Strategic Partner นั้นช่วยให้เราประสบความสำเร็จมากๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น การมีพาร์ทเนอร์นั้นขึ้นกับเราด้วยว่าเราจะมองยังไง เช่น เราอาจจะมองพาร์ทเนอร์เป็น Financial Partner เฉยๆ แบบนี้จะมองง่าย แค่ดูตัวเลขเป็นหลัก แต่พาร์ทเนอร์อีกแบบหนึ่งเรียกว่า Strategic Partner เป็นหุ้นส่วนที่ใช้กลยุทธ์นำ แต่อย่างไรก็ตามเงินก็ต้องมาด้วย
PH: สิ่งที่สังเกตเห็นก็คือระหว่าง SENA กับ Hankyu Hanshin มีการแลกเปลี่ยนความรู้ know-how ระหว่างกัน เช่น การเอาแนวคิดการออกแบบบ้านด้วยความใส่ใจ Geo Fit+ เข้ามาใช้จริงด้วย และจากประสบการณ์ที่ Propholic เคยไปดูงานอสังหาญี่ปุ่นก็รู้สึกแปลกใจที่ได้เห็นงานของ SENA นั้นมีของแบบเดียวกับญี่ปุ่นมีด้วย จึงอยากทราบว่าทาง Hankyu Hanshin กับ SENA มีความสัมพันธ์แบบพาร์ทเนอร์ในลักษณะไหนบ้าง
ดร.เกษรา SENA : การเป็นพาร์ทเนอร์ของเรากับฮันคิวนั้นเป็นไปถึงขั้น Co-branding โดยจะสังเกตว่าโครงการที่เราทำร่วมกับ Hankyu Hanshin นั้นเราจะมีโลโก้ทั้งของ SENA และ Hankyu Hanshin วางอยู่คู่กัน สื่อถึงว่าเราทั้งสองมีสิ่งที่เชื่อร่วมกัน มี value ร่วมกัน มองเห็นอะไรต่างๆ ร่วมกัน การมี value ร่วมกันจะทำให้เวลาที่เราต้องมีการประนีประนอมหรือ compromise นั้นจะยืดหยุ่นกว่า ถ้าหากเรามีเป้าหมายมองเหมือนกันกับพาร์ทเนอร์ เวลาที่เราต้องการเป้าหมายหนึ่งมากที่สุดแต่ต้องยืดหยุ่นเรื่องอื่นๆ เราก็จะทำได้ ซึ่งการที่จะทำแบบนี้ได้นั้นเราและพาร์ทเนอร์จะต้องมีไอเดียเหมือนกัน มี the same idea บางอย่างร่วมกัน
ขอยกตัวอย่าง ทาง SENA เรามีแนวคิดเรื่อง Made from Her หมายถึงการคิดละเอียด คิดแบบใส่ใจ ซึ่งตรงจริตคนญี่ปุ่น เราก็บอกให้ฮันคิวรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าเราคิดแบบนี้อยู่ และก่อนที่เราจะทำโครงการอะไร เราจะส่งให้ทางฮันคิวตรวจดูก่อนว่าผ่านมาตรฐานของเขาไหม ถ้าไม่ได้ให้บอก เรายินดีแก้ไขให้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และฐานความสัมพันธ์มาจากการอธิบายด้วยความจริงใจที่มีให้ต่อกันก่อน ถึงขนาดเคยแซวเล่นกับทีมงาน SENA ว่า ถ้าฮันคิวไม่โอเคตรงไหนด่าเราได้เลยนะ เรารู้สึกชอบความรู้สึกตรงนั้นที่สามารถคุยกันได้อย่างจริงใจ คนเราจะชมเชยให้กันตลอดเวลาคงไม่ได้ การทำงานด้วยกันต้องมีบ้างที่เห็นไม่ตรงกัน เฮ้ยทำแบบนี้ได้ไง บอกกันได้ เตือนกันได้ ซึ่งเรารู้สึกดีมากกับโมเมนต์แบบนี้
PH: สรุปว่าการประสบความสำเร็จระหว่าง SENA กับ Hankyu Hanshin แท้จริงแล้วเป็นเพราะ SENA ไม่ได้สร้างโครงการแค่ให้จบไป แต่เป็นการสร้างเพื่อความยั่งยืนยาวนาน มีการทำงานและพัฒนาสินค้าร่วมกับทาง Hankyu
ดร.เกษรา SENA : ใช่เลย เราต้องขอบคุณเขาที่เข้าใจเรา บางทีเราไม่ได้เลือกทำโลเคชั่นที่คนต่างชาติเข้าใจ ไม่ใช่โลเคชั่นแนวรถไฟฟ้าสายยอดนิยม แต่เราพาเขาไปรถไฟฟ้าสายสีม่วงไป West Gate ซึ่งไม่ใช่ทำเลที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยเลย หรือการพาไปเปิดทาวน์เฮาส์ที่ย่านบางพลี เราก็อธิบายว่าทำไมถึงพาไปเปิดโครงการที่นั้นเพราะเราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามสภาพตลาด
ในทางเดียวกัน ถ้าสิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ เราจะบอกทาง Hankyu Hanshin เลยว่าเราทำไม่ได้นะ เราไม่ปกปิด โดยส่วนตัวแล้วตัวเองไม่ใช่คน sweet talk ไม่ใช่คนพูดคำหวานเยินยออยู่แล้ว ถ้าทำไม่ได้คือทำไม่ได้ เราก็อธิบายเขาว่าสภาพตลาดตอนนี้เป็นแบบนี้ ถ้าทำแบบนั้นไปก็เสียดายเงินนะ และเราจะชี้ให้เห็นว่าลองมาลุยทำเลแปลกๆ ในสายตาคนญี่ปุ่นแบบนี้สิ มันเป็นโอกาสนะ เป็นตลาดที่มีดีมานด์เหมาะสมอยู่นะ ลองทำดูไหม เราก็นำเสนอข้อมูลให้เขาพิจารณาดู ถ้าไม่อยาก join ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่ทาง Hankyu ก็ร่วมกับเรา เราแบ่งหน้าที่กันว่า ทาง SENA มีหน้าที่ลงมือทำแล้วเสนอ ส่วนเขามีหน้าที่ตรวจสอบว่า logic โอเคไหม เราทั้งสองทำงานกันแบบนี้