สรุปประเด็นเด็ด From Zero to Hero #เอพีสายซัพฯ ถ้าฝันอยากทำ Startup ให้เป็นจริง ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์แล้วก็ได้!
AP ใจดีเปิดบ้านรับสมัคร AP Innovation Dream Team ได้เงินเดือน ได้เงินทุน พาลุยตลาดจริง พร้อมที่ปรึกษาครบ คอนเซปต์นี้มันคืออะไร?
สวัสดีครับทุกคน วันนี้ทีมงาน Propholic.com ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสุดยอดรวมไอเดียการตลาด การบริหารคน และแนวทางจุดประกายริเริ่มความคิดสร้างสรรค์จากงาน CTC2023 Festival ผมพบว่าหนึ่งใน session ที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจ มีไอเดีย แต่ไม่มีเงินทุนและไม่มีคอนเนคชั่น ผมขอแนะนำว่าต้องไม่พลาดโอกาสนี้ที่คุณวิทการ จันทวิมล ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ จาก AP Thailand มานำเสนอในหัวข้อ From Zero to Hero เรามาดูกันว่าคอนเซปต์การสร้างสตาร์ทอัปแบบใหม่นี้จะเป็นอย่างไร มาเริ่มกันเลยครับ
เอพี ออกจากกรอบเดิม ปั้น AP Innovation Dream Team ใหม่
หลายคนคงรู้จัก AP Thailand ในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีมูลค่าธุรกิจกว่า 50,000 ล้านบาท แต่ว่า next step หลังจากทำอสังหาฯ แล้วต้องทำอะไรต่อไป เอพีต้องทำอะไรใหม่ๆ ที่พ้นการคิดนอกกรอบจากธุรกิจเดิมที่ถนัดการซื้อที่ดิน พัฒนาอสังหา สร้างบ้านและคอนโดมิเนียมขาย เอพีจึงหันกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเอพีต้องทำอะไรมากกว่านี้อีกหรือเปล่านะ
เอพีตัดสินใจออกจากกรอบความคิดเก่าๆ โดยริเริ่มทำโครงการให้พนักงานภายในองค์กรช่วยกันคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ใครมีไอเดียก็จะส่งเสริมให้เปลี่ยนจากไอเดียมาเป็นลงมือทำจริง โดยปัจจุบันเอพีจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า Claymore Innovation Lab เพื่อเป็นเหมือน talent seeker มองหาคนที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความเป็นผู้ประกอบการในหัวใจมาร่วมเป็นหนึ่งในทีม AP Innovation Dream Team เพื่อทำ Internal Startup หรือสตาร์ตอัปภายใต้ร่มบริษัทใหญ่ (Big Corporation) นั่นเอง เป็นรูปแบบสตาร์ตอัปอีกรูปแบบที่น่าสนใจโดยคนทำงานมีความเป็นกึ่งพนักงานประจำและกึ่งคนทำสตาร์ตอัป
โดยทางเอพีที่มีความถนัดในธุรกิจดั้งเดิม อาจจะไม่ได้ถนัดเรื่องเทคโนโลยี deep tech มากขนาดนั้น แต่เอพีมีเงินทุน มีกลุ่มลูกค้า มีกลุ่มตลาดที่คอยสนับสนุน เอพีทำตัวเหมือนพี่เลี้ยง ชวนคนที่มีไอเดียและมีแพชชั่นในการทำธุรกิจให้เดินเข้ามาคุยกับเอพี และเอพีจะช่วยกันจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ช่วยทำให้งานของสตาร์ตอัปนั้นง่ายขึ้น แม้คนสตาร์ตอัปมาจากศูนย์ก็จริง มาแค่ไอเดียตัวเปล่าๆ แต่ถ้ามาอยู่กับเอพีก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์อีกต่อไป เป็นการแบ่งงานกันทำ เอพี “เติบโตและชำนาญ” ในธุรกิจอสังหา ส่วนสตาร์ตอัปจะทำหน้าที่ “ค้นหา” โมเดลธุรกิจใหม่ และหาหนทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า
นวัตกรรมที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร
นวัตกรรม (Innovation) เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดออกมาได้ แต่ทำให้เกิดจริงและรอดได้นั้นไม่ง่าย เพราะนวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญได้แก่
1. นวัตกรรมที่ดีต้องมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และตอบโจทย์ธุรกิจ
2. นวัตกรรมที่ดีต้องมาจากความต้องการลึกจริงแท้ของลูกค้า (Deep Insight) ต้องสืบมาจนรู้ว่าเป้าหมายของลูกค้าเป็นยังไง
3. นวัตกรรมที่ดีต้องมีโมเดลแผนธุรกิจรองรับ (Business Model) หมายถึง ต้องทำเงินได้และมีคนยอมจ่ายจริงเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้
สรุปว่า นวัตกรรมที่ดีต้องไม่ใช่แค่คิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ความฝันเฉยๆ แต่ต้องตอบโจทย์ธุรกิจได้ด้วย ซึ่งด้านธุรกิจทางเอพีมีความเชี่ยวชาญและถนัดมากและจะช่วยส่งเสริมกับคนที่สนใจมาเป็นสตาร์ตอัป กับเอพีให้หา Business Model ของตัวเองให้เจอ นอกจากนี้ด้วยความที่เอพีเป็นองค์กรใหญ่จึงมีทรัพยากรบุคคลด้านอื่นๆ ที่จำเป็นกับการทำธุรกิจเช่น ฝ่ายการเงิน บัญชี จึงสามารถแบ่งปันทรัพยากรเหล่านี้มาช่วยได้อีกด้วย
ปัจจุบันผลงานของ Claymore ที่เป็น internal startup มักโฟกัสไปที่การเพิ่มมูลค่าและเพิ่มบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ pain point ที่เป็นปัญหาให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจอสังหาซึ่งเป็นกลุ่มหลักเพื่อตอกย้ำแบรนด์ของเอพีที่ว่า “ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้” แต่ทั้งนี้ก็ยังพัฒนาและมองหาธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย
เพราะเอพีไม่ได้มองว่าขายบ้านแล้วจบ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือการมองไปถึงคุณภาพชีวิตของคน ชุมชน สังคม โดยให้บริการหรือแอปเซอร์วิสต่างๆมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัยซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำเพื่อลูกค้าของเอพีเท่านั้น แต่ทำเพื่อตอบโจทย์สังคมโดยรวมได้ด้วย