ทำความรู้จักกับ พระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ รูปแบบการเช่าที่ให้ใช้ประโยชน์แบบพิเศษได้
เห็น Quote of the day แบบนี้แล้วก็เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเหมือนกันว่า คำว่าทรัพย์อิงสิทธิ ต่างกับการเช่าแบบสัญญาทั่วไปยังไง? ในเมื่อหลายๆคนยังงงๆและก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ เราก็อยากจะอธิบายตามความเข้าใจของเราดังนี้ (ถ้าเพื่อนๆคนไหนมีข้อมูลอยากจะเสริม หรือแก้ไขก็มาแชร์กันได้ครับ เพราะผมเองก็ไม่ค่อยแม่นกม.อยู่เหมือนกัน)
พระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ นั้นถือว่าเป็นรูปแบบการเช่าโดยให้ใช้ประโยชน์แบบพิเศษ ที่แตกต่างจากรูปแบบการเช่าทั่วไปที่ผู้เช่าแทบจะไม่สามารถทำอะไรกับทรัพย์นั้นๆได้ และยังนับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯสำหรับกลุ่ม Leasehold (สิทธิการเช่าระยะยาว) ที่ออกมาโดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ในตัวทรัพย์สินทั้งในฝั่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้เช่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขอวงเงินสินเชื่อทั้งในฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องการนำสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันในธุรกิจ และในฝั่งผู้เช่าระยะยาวที่ต้องการเงินมาจ่ายค่า Lease ในระยะยาว (ก็คือเอาไปจำนองได้นั้นแหละ) โอสิทธิได้ ดัดแปลงต่อเติมได้ เช่นเดียวกับการส่งมอบสิทธิการเช่าให้แก่ทายาทหรือลูกหลานได้ ซึ่งเป็นเรื่องทีทำได้ยากหากเป็นการจดทะเบียนสัญญาการเช่าแบบเก่าที่กรมที่ดิน (สัญญาเช่าแบบเดิมถ้าผู้เช่าตาย สัญญาก็จะถูกระงับ)
ในปัจจุบันทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของกรรมสิทธิ์สามารถสร้างมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินของตนเองได้มากขึ้น โดยให้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินได้ แต่ไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการสงวนหวงห้ามทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต โดยผู้ขอก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธินั้นจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เมื่อมีความประสงค์ให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน สามารถยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิในโฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้ขอสามารถกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาการใช้ประโยชน์ได้ไม่เกิน 30 ปี และจะมีการออก “หนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ” มอบให้เจ้าของทรัพย์สินไว้ จากนั้นเมื่อมีผู้ขอใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าว สามารถจดทะเบียนโอนในหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิได้ทันที ผู้รับโอนก็จะกลายเป็นเจ้าของทรัพย์อิงสิทธิ เรียกว่า “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ” ซึ่งมีสิทธิเสมือนเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และสามารถโอนต่อให้ผู้อื่นได้ จำนองได้ หรือตกทอดทางมรดกได้อีกด้วย…ซึ่งด้วยพรบ.ทรัพย์อิงสิทธิ จะทำให้ผู้เช่าที่ดินสามารถนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงิน นำสิทธิสัญญาเช่าที่มีอยู่ไปประกอบธุรกรรมอื่นๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้อง และส่งมอบสิทธิการเช่าให้แก่ทายาทหรือลูกหลานในกรณีที่คู่สัญญาเช่าเสียชีวิตลงได้ง่าย และสะดวกกว่าการจดทะเบียนสัญญาการเช่าแบบเก่าที่กรมที่ดิน