ถอดรหัสการปั้นแบรนด์ใหม่ล่าสุด “PARK ORIGIN” A Perfect Living Platform รูปแบบการอยู่อาศัยใหม่ ที่เป็นมากกว่า “ที่พักอาศัย” แต่คือการ “ใช้ชีวิต’’
ถ้าถามว่าในสนามการแข่งขันช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งของตลาดคอนโดใจกลางเมืองในเซกเมนท์ใด ที่มีการแข่งขันรุนแรงมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ก็คงต้องบอกว่าเป็นคอนโดที่อยู่ในเซกเมนท์ Luxury ขึ้นไป คอนโดหรูที่มีระดับราคาต่อตรม.มากกว่าสองแสนห้าหมื่นบาทขึ้นไปนี้เป็นกลุ่มที่ทุกดีเวลอปเปอร์ล้วนแต่มองว่า นี่คือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับสภาพเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และก็ไม่ได้ยี่หระอะไรกับราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้ราคาขายคอนโดดีดตัวขึ้นสูงสุดจนถึงตรม.ละหกแสนกว่าก็มีให้เห็นและยังขายได้ดีในตลาด แต่เนื่องจากปริมาณผู้ซื้อที่มีจำกัดสมดั่งการเป็นกลุ่ม Top of Pyramid ดีเวลลอปเปอร์แต่ละรายจึงต้องทุ่มเทพัฒนาโครงการ โดยการเจาะลึกเข้าไปถึง mindset & journey ของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะล้วงเอาความต้องการในแบบ insight ออกมา แต่การทุ่มเทให้กับการทำ R & D ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโครงการจะถูกจริตผู้บริโภคที่ถูกวาดภาพว่าจะต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายเสมอไป เพราะดีเวลลอปเปอร์ทุกรายต่างก็มีชุดข้อมูลบน insight แบบเดียวกันไปหมด ว่าลูกค้าในแต่ละเซกเมนท์นั้นต้องการอะไร ในหลายๆครั้ง Benefit ที่จับต้องได้ในเชิง Functional และการสร้าง Emotional Benefit จนเกิดเป็นมายาคติขึ้นในจิตใจของผู้บริโภคดูจะเป็นเรื่องที่ถูกนำมา Reuse ฉายซ้ำ วนเวียนอยู่ในแคมเปญงานโฆษณาเสมอมา จนแทบจะไม่มีแบรนด์ไหนกล้าฉีกตัวเองออกจากขนบธรรมเนียมของตลาด
ปกติแล้วดีเวลอปเปอร์ส่วนใหญ่ในไทยมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้กับ แบรนด์ลูกที่เป็นโครงการแต่ละแห่ง ด้วยเหตุผลหลักที่เป็นคลาสสิคเคสหลายอย่าง ที่มาจาก Internal Discussion ไม่ว่าจะเป็น กลัวว่าเดี๋ยวจะจดจำแบรนด์ลูกได้มากกว่าแบรนด์ Corporate, กลัวว่าเดี๋ยวแบรนด์ลูกอื่นๆที่ไม่ได้สร้างแบรนด์จะขายไม่ได้, กลัวว่าเดี๋ยวหากมีอะไรผิดพลาดกับแบรนด์ลูกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Corporate, กลัวว่าถ้าสร้างแล้วก็จะเป็นงานที่ไม่สิ้นสุดต้องคอย Rejuvenate ใหม่เมื่อผ่านไปสักระยะ ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมเชื่อว่าคำตอบที่ชัดเจนมากที่สุดก็คงจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยไม่จำเป็น หากต้องทำ Branding จริง สู้ทุ่มเทงบประมาณไปให้กับแบรนด์ Corporate จะดีกว่า สามารถแตกเป็นแคมเปญได้ทุกปีโดยที่ไม่ต้องรอ Feedback ยอดขาย ดังนั้นสิ่งที่เรามักจะเห็นกันก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ เราก็จะได้เห็นภาพของ Communication Materials ที่เน้นขายของ อัด Feature Highlights ให้มากที่สุด และเอาเงินไปทุ่มให้กับการสร้าง Story Telling เพื่อ support แบรนด์นั้นๆในแบบเหวี่ยงแห เทกระจาด ไม่ดู Brand Platform หรือ Code of Expression อะไรเลยว่า แบบไหนที่ควรทำ หรือแบบไหนที่ไม่ควรทำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการพยายามปั้ม Product Campaign ออกมาทุกๆครั้งที่โครงการใหม่ออกขาย (แน่นอนว่าบางแบรนด์เปิดขายมากกว่าปีละ 4-5 ครั้ง) ไม่ได้ส่งผลดีต่อแบรนด์เสมอไป โดยเฉพาะในเรื่องของ Perception ในหมู่ลูกค้าและ Personality ที่มีหลายบทบาทมากเกินไป บางแบรนด์เริ่มต้นจากภาพของวัยทำงานรุ่นใหม่ กลายมาเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ค้นพบตัวเอง และหลุดมายังโลกของการผจญภัย จนกลุ่มผู้ซื้อเริ่มสับสนแล้วว่าเอ๊ะนี่เราเป็นอะไรกันแน่…นี่คือผลพวงของการทำงานแบบ Product Driven ที่คนในสาย Brand Strategic Planner อย่างผมไม่ค่อยจะโอเคเท่าไหร่เลย
ถ้านับกันเฉพาะปีนี้จะพบว่ามีการเปิดตัวแบรนด์คอนโดใหม่หลายแบรนด์เลยทีเดียว แต่ถ้านับกันจริงๆแล้วมีแค่ 4 รายเท่านั้นที่ทุ่มเทให้กับการปั้น Product Brand แบบจริงจัง มุ่งเน้นไปที่การสร้างจุดเชื่อมโยงที่มีคุณค่าของแบรนด์ไปสู่สายสัมพันธ์ที่ดีของกลุ่มเป้าหมาย (Relevancy) มากกว่าการโชว์ภาพตึก ส่วนกลาง แบบขายของตรงๆ หนึ่งในนั้นก็คือแบรนด์ PARK Origin (พาร์ค ออริจิ้น) โดยบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาอสังหาฯที่ผมเองก็ไม่คิดว่าเค้าจะลุกขึ้นมาสร้าง Product Branding เพราะที่ผ่านๆมาก็เห็นว่าเพิ่งลงทุนหลักร้อยล้านบาทเพื่อดันแบรนด์แม่ “ออริจิ้น” ให้มีภาพลักษณ์ที่สามารถก้าวขึ้นไปทาบชั้นผู้นำตลาดระดับพรีเมียม แมส ผ่านแคมเปญ My Life. MyOrigin…ชีวิตในฝัน แบบที่เป็นคุณ” ด้วยการดึงเอาณเดชน์ คูกิมิยะ มาเป็น Brand Ambassador ของแคมเปญหลัก และยังถือโอกาสต่อยอดไปยังการโปรโมตแบรนด์ลูกอื่นๆในเครือให้มีความชัดเจนในเรื่องของ Personality มากขึ้น เพราะณเดชน์สะท้อนภาพแบบกินรวบได้ตั้งแต่คอนโดมิเนียมแบรนด์เท่แบบเรียบหรูอย่างไนท์บริดจ์ แบรนด์ที่มีความทันสมัยหรือโมเดิร์นอย่างนอต-ติ้ง ฮิลล์ และแบรนด์เท่แบบลุยๆ อย่างเคนซิงตัน
แต่ในปีนี้เห็นทีว่าแค่ความแรงของณเดชน์ ก็คงจะไม่เพียงพอในการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ที่อยู่บน Top of Hierarchy ของออริจิ้น อย่างแบรนด์ PARK (พาร์ค) ซึ่งในปีที่แล้วไปรวบมาจากพราวด์ เรสซิเดนซ์ ผู้พัฒนาโครงการพาร์ค24 (Park24) และถือว่าเป็น Game Changer สำคัญในการปักธงในตลาดคอนโดระดับ Luxury ขึ้นไปของออริจิ้น ด้วยความได้เปรียบของแบรนด์พาร์คที่มี Awareness แข็งแรงในหมู่คนต่างชาติอยู่แล้ว เงินทุนมหาศาลจากพาร์ทเนอร์โนมุระ เรียล เอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ และการมองภาพอนาคตของพี่โด่ง พีระพงศ์ จรูญเอก ที่มีความฝันอยู่เสมอว่าสักวันจะต้องนำเอาสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นทุนเดิมอย่างธุรกิจ Hospitality มาควบรวมเข้ากับการพัฒนาโครงการคอนโด ที่พ่วงเอา Service ตามแบบอย่างมาตรฐานโรงแรมชั้นนำของโลกให้ได้ (ไม่ใช่แค่เสนอ Service เป็น Option เสริมรายโครงการ แต่ต้องสร้าง Engagement Platform ในระยะยาว จนออกมาเป็นแบรนด์ใหม่) จึงเกิดมาเป็นแบรนด์ใหม่ที่มีชื่อว่า PARK Origin (พาร์ค ออริจิ้น)
“สำหรับการพัฒนาอสังหาฯ เราเกิดมาจากดิน เราเกิดมากับธรรมชาติ ทุกครั้งที่เราสร้างเราทำลายความเป็นธรรมชาติ แต่นี่ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างธรรมชาติให้กลับคืนมา ถ้าที่ดินมันล้านกว่า สองล้านกว่าต่อตารางวา ผมว่าเราต้องคิดให้มากกว่านี้ ไม่มีการเสร็จงาน งานนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะปรับไปกับเทรนด์การอยู่อาศัยของทุก Generation”…แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาโดยพี่โด่งในวันแถลงข่าวเปิดตัวแบรนด์ PARK Origin เมื่อช่วงต้นเดือนสค.ที่ผ่านมา ซึ่งนี่คือแกนหลักในการสร้างแบรนด์ PARK Origin แบรนด์อสังหาฯใหม่ที่ สร้างมาตรฐานรูปแบบ “ที่อยู่อาศัยใหม่” ที่เป็นมากกว่า “ที่อยู่อาศัย” แต่มันคือการ “ใช้ชีวิต” ซึ่งPLATFORM นี้ ประกอบไปด้วย 3 แกนคือ NATURE & TECHNOLOGY & COMMUNITY ที่จะสร้างคุณค่าในแง่ Living Economy ที่มีทั้งธรรมชาติ คอมมูนิตี้การอยู่อาศัยและ เทคโนโลยี ที่เข้ามาทำให้เกิดเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบที่สุด พร้อม คุณภาพชีวิตที่ดี ดั่ง Brand Idea ที่วาดเอาไว้คือ A Perfect Living Platform
พลันที่ได้ยินคำว่าธรรมชาติ ความเป็นนักอนุรักษ์ออกมา ก็มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ออริจิ้นเนี่ยนะจะอนุรักษ์ธรรมชาติ, การปลูกต้นไม้มันช่วยให้ของดูแพงขึ้นได้อย่างไร หรือบ้างก็ว่าทำไมไม่ไปเน้นจุดขายที่มันดูหรูหรา ไฮเทคเหมือนอย่างคอนโดราคาตารางเมตรละสามแสนที่อื่น…ถ้าความความเห็นผมในแบบที่เป็นกลางที่สุดแล้ว ก็คงต้องบอกเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนครับว่านี่คือ product branding ไม่ใช่ Brand Idea ของแบรนด์แม่ออริจิ้น ซึ่งเค้าก็ยังคงเน้นความเท่ห์นำสมัย เข้ากับคนทุกรุ่นได้ในสไตล์ณเดชน์อยู่ และเจตนาของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างบทบาทนี้ให้กับแบรนด์ PARK Origin อย่างพี่ต่อ ฟีโนมีนาธนญชัย ศรศรีวิชัย และพี่โด่งเองก็ต้องการที่จะสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆที่วนเวียนตกหลุม Consumer Trap จนต้อง Reuse แนวคิดแคมเปญกันไปมาอยู่จุดเดิมๆ และที่สำคัญมากๆก็คือสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปด้านล่างว่า PARK Origin ทั้ง 3 โครงการนี้ มีความหรูหราและเอกสิทธิ์เฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างไรบ้างครับ
ภาพยนตร์โฆษณาข้างต้นสะท้อนภาพของแบรนด์ PARK Origin ในการพัฒนาคอนโดมิเนียมให้เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย สร้างสมดุลการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติ เพื่อเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์แบบกับทำเลใจกลางเมือง โดยในความคิดของผม บทบาทของแบรนด์ PARK Origin จากที่พี่โด่งได้เล่ามาน่าจะอยู่ในธาตุดิน มีความเป็น Mother of Goodness หรือมารดาผู้สร้าง เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและชีวิตที่แทรกซึมอยู่ท่ามกลางความรักและผูกพัน ดุจดั่งสายใยจากแม่สู่ลูก…เพียงแต่ว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในเชิงที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดไม้ ทำลายทัศนียภาพของธรรมชาติดั้งเดิมในการที่จะสร้างโครงการใหม่ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยร้ายนี้ไปในวงกว้าง ซึ่งโฆษณา Teaser ตัวนี้ก็อาจจะ Mislead ไปยังกลุ่ม audience ที่ไม่ทราบที่มาที่ไปของแนวคิดเบื้องหลัง เพราะมันช่างต่างกับแนวทางการสื่อสารของแบรนด์ประเภท Mother Of Goodness ที่มักจะเป็นสไตล์ที่ดูอบอุ่น ห่วงใย มอบสิ่งดีๆให้กับคนที่คุณรักซะเหลือเกิน และก็อาจจะยังไม่ค่อยแตะไปถึงสโลแกน A Perfect Living Platform สักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าเค้าน่าจะมีหนังโฆษณาตัวต่อไปเพื่อเน้นภาพของบทบาทนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นครับ อย่างไรก็ตามออริจิ้นก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่การทำโฆษณา แต่ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานของกทม.ในการทำ Brand Activation อย่างต่อเนื่องเป็นพันธกิจหลัก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อย 1 ต้นต่อที่อยู่อาศัย 1 ยูนิตที่เปิดขายใหม่ของแบรนด์ PARK Origin หรือราวๆปีละ 10,000 ต้น โดยเบื้องต้นได้มอบต้นทองอุไรไปแล้ว 2,200 ต้นตามจำนวนยูนิตเปิดใหม่ของทั้งสามโครงการ