PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลสาทร ซอย 1
เมื่อช่วงต้นเดือน กค. 2561 ที่ผ่านมา มีสถิติที่น่าสนใจจากแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ที่ได้เผยแพร่ออกมาว่า ราคาที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000% ภายในระยะเวลา 30 ปี นับจากปีพ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นปีแรกที่ซีบีอาร์อีเริ่มเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ
ข้อมูลดังกล่าวหากดูเผินๆแบบมองโลกในแง่ดี ก็อาจจะคิดไปได้ว่า งั้นบ้านที่เราอยู่ก็น่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว นับจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วน่ะสิ…แต่ในความเป็นจริง การปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,000% ของราคาที่ดินดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นอัตราส่วนเดียวกันกับทุกพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ แต่การเพิ่มขึ้นของราคานั้น เป็นการปรับตัวที่คู่ขนานไปกับทิศทางการพัฒนาเมือง กล่าวคือที่ดินที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำราคาเพิ่มได้มากๆนั้นก็ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ อยู่ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านทั้งบนดินและใต้ดิน มีข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองที่มีความเข้มงวดในการก่อสร้าง และอยู่ในย่านที่จำนวน Supply ที่ดินในแบบ Freehold เหลือน้อย
ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาที่ดินที่ทำสถิติราคาขายต่อตารางวาแพงที่สุด ก็ล้วนแต่อยู่ในย่าน CBD ทั้งสิ้น โดยสถิติสูงสุดต่อตารางวาในปัจจุบันอยู่ที่ CBD ลุมพินี ถนนหลังสวนประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา โดยบริษัท เอสซี แอสเสท และการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษขนาด 23 ไร่ที่ซื้อไปโดยกลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์คือการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 19,000 ล้านบาท และหากจะถามว่าย่าน CBD ไหนที่มีจำนวนพื้นที่สำนักงานมากที่สุด จนแทบจะหาพื้นที่ขนาดใหญ่ราคาเหมาะสมในการพัฒนาโครงการประเภทที่อยู่อาศัยไม่ได้ก็คือ ย่านสีลม-สาทร ซึ่งจากจำนวนพื้นที่อาคารสำนักงานทั่วกรุงเทพฯกว่า 8.6 ล้านตารางเมตรนั้น กว่า 2.1 ล้านตารางเมตรคือพื้นที่อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ในย่านนี้ ยังไม่รวมโครงการขนาดใหญ่อื่นๆบริเวณริมถนนพระรามสี่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอย่าง One Bangkok และ Supalai Icon Sathorn โครงการ Mixed Use บนที่ดินขนาด 8 ไร่ของสถานฑูตออสเตรเลียเก่า ปากซอยสวนพลู ที่ขายไปในราคาประมาณ 1.45 ล้านบาทต่อตารางวา ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นภาพของผู้คนจำนวนมหาศาลที่หมุนเวียนเข้าออกเพื่อที่จะมาทำงานในย่านสาทรตลอดทั้งวัน