TOD เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียนได้อย่างไร
ในช่วงเวลาโรงเรียนเปิดเทอมของทุกปี เรามักพบเห็นสภาพการจราจรติดขัดในช่วงเช้าและเย็น โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียนที่ผู้ปกครองขับรถมารับ-ส่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หลายๆ ประเทศในแถบเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่กับประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และนำแนวทางการพัฒนาในรูปแบบ TOD (Transit-Oriented Development) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ มาใช้ในการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กชาวญี่ปุ่นให้ดีขึ้น
ตั้งโรงเรียนใกล้บ้าน
ประเทศญี่ปุ่นมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ในเรื่องการศึกษามีการกำหนดให้มีโรงเรียนในรัศมีทุก 4 กม. ที่มีพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัย และกำหนดให้เด็กทุกคนในระดับอนุบาล-มัธยม เข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น ไม่มีการเลือกโรงเรียนหรือเข้าสอบในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กชาวญี่ปุ่น สามารถเดินไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดได้
สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา TOD ก็มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mix) ในรัศมี 600 เมตรรอบสถานีขนส่งสาธารณะ ให้มีสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในพื้นที่อยู่อาศัยอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านขายยา คลินิกรักษาโรค ศูนย์การค้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สวนสาธารณะ ให้อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนมากที่สุด เพื่อลดการเดินทางด้วยรถยนต์ ดึงดูดให้ประชาชนเลือกการเดินทางด้วยวิธีปั่นจักรยานหรือเดินเท้า เพื่อเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ แต่ในกรณีของการตั้งสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นสถานที่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนและงบประมาณค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องขยายรัศมีออกไป เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่ยังอยู่ในพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้เหมือนเดิม
นอกจากเรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้มีโรงเรียนใกล้บ้านแล้ว อีกสิ่งที่เด็กนักเรียนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานก็คือ การมีร้านค้าริมทางเดินที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย เป็นหูเป็นตาช่วยดูแลเด็กๆ ในชุมชนให้เดินทางอย่างปลอดภัย จนกว่าจะไปถึงโรงเรียนของพวกเขา