โครงการอวดเมือง The Pitching 2568 เฟ้นหาเทศกาลที่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมของจังหวัด เครื่องมือพัฒนาเมืองให้น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว ร่วมชมอวดเมืองพาวิลเลี่ยน และ City Showcase 12 จังหวัด ในงาน SPLASH-Soft Power Forum 2025
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาเฟสติวัล สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA จัดโครงการอวดเมือง 2568 The Pitching ภายในงาน SPLASH-Soft Power Forum 2025 พร้อมกิจกรรมไฮไลท์ City Showcase 12 จังหวัด อวดอัตลักษณ์และเศรษฐกิจชุมชนของเมือง และค้นหา 2 จังหวัดนำร่องอวดเมืองสู่การยกระดับให้เป็นเมืองที่ “น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว” ในกิจกรรม ” Final City Pitching” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 ฮอลล์ 1 ชั้น G ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยมี 51 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ และมี 12 จังหวัดที่ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก ได้แก่ กาญจนบุรี, ขอนแก่น, จันทบุรี, เชียงราย, นครราชสีมา, พิษณุโลก, เพชรบุรี, แพร่, เลย, ศรีสะเกษ, สุโขทัย, อุบลราชธานี โดยการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ เทศกาล การตลาด และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนางานเทศกาล พร้อมยกระดับให้แต่ละเมืองเป็นเมืองน่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินให้คะแนนคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ความชัดเจนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย, แผนการเงินและโมเดลธุรกิจ, ความพร้อมของการนำกิจกรรมไปปฏิบัติจริง, ศักยภาพเมืองน่าอยู่และดึงดูดประชากร
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการนี้ว่า โครงการอวดเมือง 2568 The Pitching เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดพัฒนาเมืองโดยใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือ สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ และอวดเมืองต่อชาวโลกผ่านเทศกาล โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในพื้นที่ และใช้เทศกาลเป็นเวทีเมือง เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการ ค้นหาจังหวัดต้นแบบ ในประเทศไทย ที่สามารถแสดงศักยภาพ ของการสร้างสรรค์เทศกาลที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนและชุมชน อีกทั้ง สนับสนุนจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ให้สามารถพัฒนาเทศกาลท้องถิ่น ให้เป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และนานาชาติ รวมถึง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการสร้างเทศกาล ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ และสามารถดึงดูดการลงทุนได้อย่างยั่งยืน พร้อม กระตุ้นการย้ายกลับของคนท้องถิ่น และดึงดูดประชากรใหม่ มุ่งเน้นภาพลักษณ์ของเมืองที่น่าอยู่และมีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความยั่งยืนในระยะยาวผ่านโมเดลธุรกิจของเทศกาลที่สามารถจัดต่อเนื่องได้ทุกปี โดยการผนึกกำลังของชุมชน และทำให้ Ecosystems ของการจัดเทศกาลระดับท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ด้วยการนำทักษะใหม่มาใช้ในการจัดการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการอวดเมือง 2568 The Pitching ที่มุ่งหวังในการชักชวนคนรุ่นใหม่ ร่วมช่วยกันยกระดับเมืองให้ น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว มากยิ่งขึ้น
“เทศกาล” จึงไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมเฉลิมฉลองประจำปี หากแต่คือ “กลไกเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองในมิติของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม ได้อย่างมีระบบและยั่งยืน