แสนสิริ ผนึกกำลัง กสศ. และ สมัชชาการศึกษาราชบุรี เดินหน้าโครงการ “Zero Dropout” ปีที่ 2 รุกพันธกิจ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ” หวังปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้ยืดหยุ่นและมีทางเลือก ผลักดันเด็ก จ.ราชบุรี หลุดออกนอกระบบต้องเป็น “ศูนย์” ตามเป้าปี 2567
– แสนสิริ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี รุกแผนโร้ดแมพ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ภายใต้ โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ปีที่ 2 หวังเป็นฟันเฟืองช่วยปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศ
– ครั้งแรก! ของจังหวัดราชบุรี ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์โอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากที่สุด ผ่านรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับเด็กไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขชีวิตแบบใด เรียนที่โรงเรียน-เรียนออนไลน์-เรียนตามอัธยาศัย
– จากข้อมูลสถิติของ กสศ. หลังจากเปิดตัวโครงการเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเด็กเสี่ยงหลุดและเด็กหลุดจากระบบได้มีทางเลือกการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตได้แล้วจำนวน 9,311 คน จากทั้งหมด 10 อำเภอในจังหวัดราชบุรี
– ตอกย้ำความมุ่งมั่นของแสนสิริ ด้านการให้ความสำคัญกับเด็กอย่างยั่งยืนกว่า 10 ปี และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม
– เดินหน้าขับเคลื่อนราชบุรี ให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ที่จะสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ ให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ได้ในปี 2567 ภายใต้การดำเนินงานของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และสมัชชาการศึกษาราชบุรี ภายใต้เงินสนุบสนุน 100 ล้านบาท
นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แสนสิริ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้เจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ผลักดันความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมทุกมิติ รวมถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กที่จะนำพาประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ จากโครงสร้างการศึกษาไทยที่ยังไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ และวิกฤตในการใช้ชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่นั้นๆ อย่างเท่าเทียม ในปีนี้ เราจึงเดินหน้า พันธกิจ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ร่วมกับ กสศ. และสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี เพื่อลงลึกถึงการแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ในระดับประเทศ ผ่านโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ทั้งภารกิจในการพัฒนากลไกการปฏิรูประบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถึงระดับโครงสร้าง การพัฒนากลไกการทำงานเชิงพื้นที่ ภารกิจในการสำรวจ ช่วยเหลือ และติดตามกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนในระบบและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการดำเนินงานของ กสศ. ที่ต่อเนื่องและมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ภายใต้ทุกเงื่อนไขชีวิตเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”
ด้านความคืบหน้าพันธกิจโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ สามารถลดจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมไปถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วให้สามารถได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ ได้แล้วจำนวน 9,311 คน จากทั้งหมด 10 อำเภอ หลังจากเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2565 โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และกสศ. ภายใต้เงินสนับสนุนจากการระดมทุนบริจาคช่วยเหลือเด็ก 100 ล้านบาท ในการดำเนินงาน 3 ปี ในปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มใช้นวัตกรรมกลไกอาสาสมัครอย่าง“3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี” จากการรวมพลัง 3 กลไกท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครการศึกษา (อสศ.) เพื่อฟื้นฟูเด็กๆ ทุกมิติ มุ่งดูแลและฟื้นฟูเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาและทำงานครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ ด้านสุขภาพกาย-ใจ การคุ้มครองทางสังคม และโอกาสทางการศึกษา โดยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน
จากการลงพื้นที่สำรวจในปีนี้ เพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา, เด็กหลุดออกจากระบบ, เด็กกลุ่มเปราะบาง และเด็กในกระบวนการยุติธรรม ทำให้พบว่า ไม่ใช่แค่ปัจจัยด้านทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ยังสามารถพบอีกหลากหลายปัจจัย เช่น เด็กกลุ่มเปราะบางที่ปัญหาด้านกายภาพไม่พร้อมจะเรียนรวมกับเด็กคนอื่นๆ (กลุ่มออทิสติกและกลุ่มเด็กที่พัฒนาการช้า) หรือเด็กที่ไม่กล้าไปโรงเรียนหรือไม่สามารถไปโรงเรียนได้ (เด็กที่ถูกรังแก, เด็กที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร, เด็กที่ต้องช่วยครอบครัวทำงาน)