“ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” ประกาศแผนธุรกิจปี 66 รุกเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง 10 – 12 โครงการ มูลค่า 7,000 – 8,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 6,850 ล้านบาท
ลลิลฯ ประกาศแผนธุรกิจปี 2566 มุ่งเน้นการบริหารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามหลัก ESG มุ่งสู่การเป็น National Housing Company และผู้นำของตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบของประเทศ โดยเตรียมเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท ขยายตัว 10%
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul, Chairman of Executive Board, Lalin Property Plc.) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า เป็นปีที่ความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ค่อยๆ คลี่คลาย จากการที่คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน ติดเชื้อ จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การติดเชื้อมักมีอาการที่ไม่รุนแรง ทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่างๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามในปี 2565 ที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ยังเป็นปีที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้หลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 7 ครั้ง รวม 4.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25%-4.50% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นการขึ้นที่เร็วและแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน รวมถึงธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ต้องดำเนินนโยบายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อันนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นที่ทั่วโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession
ในแง่ของเศรษฐกิจไทย ในปี 2565 ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการเปิดประเทศช่วงกลางปี การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3.6 – 4.0% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งความไม่แน่นอนภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่เกิดจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ดีภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึงสิ้นปี 2566 รวมถึงการฟื้นตัวของลูกค้าที่ทำงานในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้มองว่าแม้สภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะอุตสาหกรรม ในปี 2566 นี้จะยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในแผนการดำเนินธุรกิจ การบริหารงาน และความเชี่ยวชาญของบริษัท จึงมั่นใจว่าจะสามารถขยายตัวได้ เดินหน้าสู่การเป็น National Property Company โดยตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับปี 2566 นี้ไว้ที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัว 10% สูงกว่าภาพรวมตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3 – 5%