พื้นที่อุตสาหกรรมเติบโตกว่า 12% จากอนิสงค์กลยุทธ์ Plus One ของจีน
พื้นที่อุตสาหกรรมเติบโตกว่า 12% จากอนิสงค์กลยุทธ์ Plus One ของจีน
สาระสำคัญ
จำนวนการขายพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์จีน Plus One ทำให้บริษัทบางแห่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย แต่ก็ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า เช่น อุปสงค์ที่ซบเซาทั่วโลกและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
ภาพรวมเศรษฐกิจ
จากรายงานของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.7% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 จากอุตสาหกรรมภายในประเทศและการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียน
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 8.5% แซงหน้าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.5% ทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุล แตะระดับสูงสุดในรอบกว่าสองปีที่ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่งโดยขยายตัวที่ 5.4% จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ภาคการผลิตยังขยายตัว 3.1% จากการลงทุนในเครื่องมือก่อสร้าง เครื่องจักร และจากปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาลลดลง 6.2% เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิดลดลงเป็นอย่างมาก ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ยังตามหลังประเทศอาเซียนหลักอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการค้าและการท่องเที่ยว
จากข้อมูลรายงานของกระทรวงพาณิชย์ (MOC) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.49% นับเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง เนื่องจากราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ราคาพลังงานเชื้อเพลิงลดลงเป็นอย่างมาก และฐานที่สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแสดงรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แตะระดับ 1.3% แต่ยังคงอยู่เหนือค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโรคระบาดที่ต่ำกว่า 1% ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ ธนาคารกลางยังคงแนวทางการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ระดับปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อและส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน
ในเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยทรงตัวที่ 94% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัวในปี 2566 จากปัจจัยต่างๆ เช่น การคุมเข้มทางการเงินเนื่องจากระดับหนี้ทั่วโลกอยู่ที่ 270% ของ GDP โลก ในส่วนของภาคการผลิตภายในประเทศ ค่า MPI ได้รับผลกระทบจากระดับการผลิตที่ลดลงในบางอุตสาหกรรม เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) และผลิตภัณฑ์เคมี อย่างไรก็ตามยังคงมีสัญญาณการเติบโตเชิงบวกในอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ในขณะเดียวกันปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น 613 โครงการ เพิ่มขึ้นจาก 327 โครงการในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากถึง 171% เป็น 2.4 แสนล้านบาท ภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโซล่าเซลล์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งมีอัตราการเติบโตโดดเด่นอยู่ที่ 264% และมีมูลค่าการลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 อุตสาหกรรมอื่นๆที่ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากรองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และดาต้าเซ็นเตอร์