ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไทยตอบรับเทรนด์โลก เดินหน้าสู่ความยั่งยืน
ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกให้ความใส่ใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางภูมิภาคเป็นผู้บุกเบิกในการนำแนวคิดนี้มาใช้เป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงปรับตัวช้ากว่า อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่การปรับตัวไม่เร็วนักอย่างประเทศไทยกำลังเปิดรับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากความกังวลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นและความต้องการในตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงไป
เทรนด์ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ การยื่นขอการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design – ความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม) EDGE (Excellence in Design for Greater Efficiencies – ความเป็นเลิศด้านการออกแบบเพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่า) และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability – การประเมินความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทย) มาตรฐานการรับรองเหล่านี้ให้กรอบแนวทางในการประเมินและพัฒนาประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของอาคาร รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและน้ำ คุณภาพอากาศภายในอาคาร และการใช้วัสดุที่ยั่งยืน ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก พบว่า ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ไทยหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวหลังจากที่อาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ (Park Ventures Ecoplex) ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum ในปี 2555 ซึ่ง ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 มีจำนวนอาคารสำนักงานในย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้วอยู่ที่ 35%
“ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจกับการได้รับรองตามมาตรฐานอาคารเขียว เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการบรรลุมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) อีกหลายภาคธุรกิจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้นำแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนมาใช้เป็นระยะเวลานานแล้ว เนื่องจากกลยุทธ์เหล่านี้เป็นมาตรฐานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง บริษัทเหล่านี้จึงตั้งเป้าหมายไว้ในระดับสูงด้านการลดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และปรับปรุงการจัดการขยะ โดยความโปร่งใสของบริษัทได้ยกระดับเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน บริษัทหลายแห่งมีการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนที่มีความละเอียดและผ่านการตรวจสอบข้ออ้างอิงต่าง ๆ โดยบุคคลที่สาม” นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว
การสำรวจความคิดเห็นของผู้เช่าพื้นที่สำนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกล่าสุดโดยซีบีอาร์อี ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 130 คน พบว่า ราวครึ่งหนึ่งของผู้เช่าพื้นที่สำนักงานซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติตั้งเป้าหมายที่จะลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งในปีนี้ หลายบริษัทมุ่งเน้นที่จะสร้างพอร์ตโฟลิโอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดย 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยถึงความต้องการอย่างมากที่จะเช่าอาคารสำนักงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในอีก 3 ปีข้างหน้า ซีบีอาร์อี มองเห็นแนวโน้มนี้ในประเทศไทยเช่นกัน โดยมีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งย้ายสำนักงานเข้าไปในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้วหรือมีความตั้งใจที่จะย้าย
สำหรับในภาคธุรกิจโรงแรม เครือโรงแรม เช่น แอคคอร์ (Accor) ฮิลตัน (Hilton) และ ไอเอชจี (IHG) มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ โดยกำหนดเป้าหมายตามลักษณะภูมิอากาศ นอกจากนี้ การใช้พลังงานถือเป็นข้อกังวลหลักของบริษัทหลายแห่ง ส่งผลให้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นจุดสนใจหลักของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืน อาคารต่าง ๆ เริ่มใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานที่ล้ำสมัยขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน และการออกแบบอาคารบางแห่งยังมีการนำระบบพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และไฟฟ้าพลังงานน้ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เช่นกัน