การเปลี่ยนแปลงของทำเลบางนา-ตราด สู่ย่านพัฒนาโครงการบ้านหรูระดับลักชัวรี่
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในโซนทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา – ตราด
เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่ไปตามแนวถนนบางนา – ตราด ไปจนถึงช่วงประมาณกิโลเมตรที่ 15 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างจากในอดีต อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหลายโครงการยังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
จากผลการสำรวจพื้นที่โดยพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในทำเลหรือพื้นที่ที่อยู่รอบๆ จุดตัดของถนนบางนา – ตราด และถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “เมกาบางนา” เปิดให้บริการ ประกอบกับถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนตะวันออก มีการขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6 – 8 ช่องจราจร ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก และถนนสายรองที่แยกออกไปกลายเป็นทำเลที่มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเปิดให้บริการเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตามแนวถนนศรีนครินทร์ และต่อเนื่องมาถึง ถนนบางนา – ตราด บางส่วน เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้บางพื้นที่มีศักยภาพสูงขึ้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของย่านนี้ แต่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว กลายเป็นโกดังสำเร็จรูปให้เช่า หรือโลจิสติคส์แวร์เฮ้าส์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งแบบแบ่งพื้นที่เช่า แบบเช่าทั้งอาคาร และแบบก่อสร้างตามที่ผู้เช่าในระยะยาวต้องการ โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา และมีผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้อีกด้วย โดยเฉพาะจากกลุ่มนักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจที่เป็นชาวจีนหรือต่างชาติอื่นๆ ซึ่งมีความต้องการบ้านราคาแพงในพื้นที่ตามแนวถนนบางนา – ตราด รวมไปถึงการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมใน EEC ที่ส่งผลถึงพื้นที่ตามแนวถนนบางนา – ตราด ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันพื้นที่ตามแนวถนนบางนา – ตราด ตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่มาถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 15 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบที่รองรับการใช้ชีวิต และสนับสนุนให้พื้นที่นี้มีศักยภาพที่สูงขึ้น มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายแห่ง โรงเรียนนานาชาติมากกว่า 10 แห่ง ที่มีหลายระดับการศึกษา และหลายรูปแบบของระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่นี้ รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐบาล และโรงพยาบาลอินเตอร์
นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมพื้นที่เช่าของอาคารสำนักงานทั้งหมดแล้วไม่ต่ำกว่า
175,000 ตารางเมตร และยังมีอาคารสำนักงานที่กำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายอาคาร ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีพื้นที่อาคารสำนักงานในทำเลนี้มากกว่า 200,000 ตารางเมตร และถ้ารวมอาคารสำนักงานในพื้นที่ใกล้เคียงบนถนนสุขุมวิทก็คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ตารางเมตร ทำให้มีคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ย่านนี้และพื้นที่ต่อเนื่องตามแนวถนนสุขุมวิท และ ถนนศรีนครินทร์ ไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อวัน
ส่วนการเชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่ย่านนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดข้างเคียงถือว่าสะดวกสบาย เพราะมีถนนบางนา – ตราด เชื่อมต่อกับถนนเส้นทางอื่นๆ เช่น ถนนศรีนครินทร์ กิ่งแก้ว และสุขุมวิท เป็นต้น รวมทั้งยังมีทางพิเศษบูรพาวิถี ที่สามารถใช้เดินทางไปจังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออกได้ ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อพื้นที่รอบกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ครบทุกทิศทางแล้ว อีกทั้งยังมีทางพิเศษสาย S1 หรือทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และยังไม่ไกลจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือ มอเตอร์เวย์ ซึ่งสามารถเดินทางไปถึงจังหวัดระยองได้
ขณะที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้สะดวกสบายแบบครบวงจร เพราะต้องใช้รถโดยสารประจำทางเพื่อไปต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ในอนาคตถ้าโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา หรือ Light Rail สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) เกิดขึ้นจริงจะยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ย่านนี้ให้มากขึ้นไปอีก รวมถึงหากโครงการรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบินและ EEC กับกรุงเทพฯเข้าด้วยกันเริ่มเป็นรูปธรรม จะเป็นผลดีให้กับพื้นที่ตามแนวถนนบางนา – ตราด ในอนาคต ทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้าต่างๆ จะสะดวกมากขึ้น