เหตุใดสิงคโปร์สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้สำเร็จ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชากรเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศต้องเผชิญ ปํญหานี้เกิดจากหลายเหตุผล เช่น เหตุผลทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคมทำให้คนจำนวนมากต้องย้ายเข้ามาอยู่เขตเมืองมากขึ้น (Urbanization) เหตุผลด้านลักษณะของประเทศ มีที่ราบน้อย พื้นที่เป็นเกาะขนาดเล็ก เป็นต้น
สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พบกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย แต่สิงคโปร์ก็สามารถแก้ไขปัญหาและผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากเดิมที่สิงคโปร์เคยมีสลัมที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตแย่ จนมาถึงวันนี้สิงคโปร์มีโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพดีสะดวกสบายมากมายจนหลายประเทศต้องไปศึกษาดูงานว่าสิงคโปร์สามารถทำได้อย่างไร
หากมองโดยผิวเผินแล้วคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ร่ำรวย มีเงินมากจึงสามารถถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ดินให้กับประเทศและนำที่ดินเหล่านั้นไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนจึงสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้ แต่ไม่ใช่เลยเพราะที่ดินที่ถูกถมส่วนใหญ่ของประเทศนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านอื่นที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย เช่น สร้างสนามบิน สวนอุตสาหกรรม ท่าเรือ เขตการเงินใหม่ที่มารีน่าเบย์และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ มีเพียงส่วนเล็กๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นบ้านเอื้ออาทร ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ถูกใหม่เลย
อะไรที่ทำให้สิงคโปร์สามารถแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้สำเร็จ
ภายใต้การเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลอิสระสิงคโปร์ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้จัดตั้งคณะกรรมการการเคหะและการพัฒนาขึ้นมา (Housing & Development Board หรือ HDB) เพื่อแทนที่ Singapore Improvement Trust (SIT) ซึ่งถูกจัดตั้งมาก่อนโดยรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ
HDB จัดการกับปัญหาอย่างครอบคลุมทุกด้าน มีหน้าที่รับผิดชอบทุกด้านที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงการวางแผน การพัฒนา การออกแบบอาคาร การบำรุงรักษา สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ HDB ดำเนินการคือ การสร้างศูนย์ประชากรไว้ที่นอกเมืองแต่อยู่ไม่ไกลมากนัก และได้สร้างแฟลตขึ้นมาอีกมากกว่า 50,000 แห่ง
ภาพ HDB Hub อาคารสำนักงานของ HDB ในย่าน Toa Payoh ของสิงคโปร์
ต่อมามีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลภายใต้การนำของนาย ลี กวนยู ได้ยกเลิกกฎหมายการครอบครองที่ดินปี 1920 และตรากฎหมายการได้มาซึ่งที่ดิน ( Land Acquistion Act หรือ LAA) ขึ้นมาใหม่ในปี 1966 กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้รัฐได้รับที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ งานสาธารณะประโยชน์หรือเพื่อการอยู่อาศัยเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย LAA อีกครั้งในปี 1973 LAA ใหม่นี้อนุญาตให้รัฐได้รับที่ดินเอกชนด้วยค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามูลค่าตลาด การออกกฎหมาย LAA ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องโดนร้องเรียนในเรื่องนี้ LAA ส่งผลให้การเป็นเจ้าของที่ดินของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 1949 เป็น 44% ในปี 1960 และเพิ่มเป็น 76% ในปี 1985
สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำเพิ่ม คือ ออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าของบ้านอย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจถึงความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน รัฐบาลทำให้ราคาขายเริ่มต้นดึงดูดน่าสนใจ เป็นตัวเลือกที่ราคาดียิ่งกว่าค่าเช่าบ้าน
นอกจากนี้ก็เพิ่มนโยบายการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund หรือ CPF) เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เงินออมเหล่านี้เพื่อเป็นเงินทุนซื้อบ้าน จากเดิมเก็บที่ 5% ของเงินเดือนทุกเดือน ปรับปรุงใหม่เป็นเงินสมทบรายเดือน 6% จากพนักงาน และจากนายจ้างอีก 6% ต่อมาไม่นานอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 16% และ 24% ตามลำดับ นโยบายนี้เป็นข้อกำหนดที่ประชาชนต้องเสียสละเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนจะต้องรับภาระและการหักเงินสมทบดังกล่าวก็ย่อมกระทบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงในชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อนายลี กวนยู ก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1990 ชาวเมืองสิงคโปร์ประมาณ 87% ก็ได้อาศัยอยู่ในแฟลต HDB แล้วเรียบร้อย โดยมีคนประมาณ 88% ที่เป็นเจ้าของด้วย แม้ว่าประชากรของสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 1.6 ล้านคนเป็น 3 ล้านคนตั้งแต่ปลายปี 1950
เราจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์นั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศหรือปริมาณพื้นที่ของประเทศเลย หากแต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของรัฐบาลและนโยบายการบริหารจัดการของรัฐบาล