เดินรถสายสีม่วงเชื่อม”เตาปูน-บางซื่อ”สะดุด 2แสนคนเคว้งคมนาคมจัดรถเมล์รับ-ส่งรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าเมือง
Source: www.prachachat.net
Date: 2 ตค. 2558
ผู้โดยสาร 2 แสนคนเคว้ง ! เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงสะดุดสถานี "เตาปูน-บางซื่อ" ต้องนั่งรถไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าเมือง รฟม.ก้นร้อนเตรียมแผนสำรองนำรถชัตเติลบัสรับ-ส่งผู้โดยสาร ชง "อาคม" เคาะจ้างบีเอ็มซีแอลติดตั้งระบบและเดินรถชั่วคราว 1 ปี วงเงินกว่า 700 ล้าน รอ ครม.ไฟเขียว คาดต้นปี"60 เดินรถต่อเนื่อง เผยต้องใช้เวลา 15 เดือนดำเนินการ เตรียมเปิดประมูลหาเอกชนรับสัมปทาน 3-5 ปี พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 16 สถานี รองรับเปิดใช้สายสีม่วง ส.ค. 59
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการเดือนมิถุนายนและอย่างเต็มรูปแบบเดือนสิงหาคม จะสิ้นสุดที่สถานีเตาปูนเป็นสถานีสุดท้าย ส่วนการเดินรถไปยังสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดินจะยังไม่ต่อเชื่อมกัน ผู้โดยสารจะต้องนั่งรถเมล์หรือใช้ระบบฟีดเดอร์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาขึ้นที่สถานีบางซื่อแทน เนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลาในการติดตั้งระบบ 15 เดือน นับจากบริษัทเซ็นสัญญากับ รฟม.แล้ว แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อน เดินรถขาดช่วง 1 สถานี "รฟม.ว่าจ้างบริษัทติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน จำนวน 693 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถ 1 สถานี วงเงิน 52 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นวงเงินกว่า 700 ล้านบาท จะนำรถขบวนเก่าของรถไฟฟ้าใต้ดินมาวิ่งรับส่งคนจากสถานีบางซื่อมายังสถานีเตาปูน อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ตามแผนเดิมช่วง 1 สถานีจะเปิดพร้อมกับสายสีม่วงธันวาคมปีหน้า แต่เพราะเร่งสายสีม่วงเปิดเร็วขึ้นเป็นสิงหาคม ทำให้การเดินรถไม่ต่อเชื่อมกัน" สำหรับแผนการเปิดให้บริการ ขณะนี้บริษัทนำรถ 3 ขบวนแรกมาวิ่งทดสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุงบางใหญ่ก่อนระหว่างรอให้ทั้ง 21 ขบวนมาครบเดือนมกราคม 2559 ซึ่งประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิดทดสอบระบบ เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์สำหรับโครงการจากนั้นปลายเดือนมกราคม-เมษายนจะทดสอบ ระบบการทำงานร่วมกันทั้งหมดและประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะเปิดทดสอบเสมือนจริง ซึ่งอาจจะให้มีผู้โดยสารเข้าร่วมใช้บริการด้วยแบบจำกัดจำนวนคนและเวลา "หลังสายสีม่วงเปิดบริการ สถานะบริษัทจะพลิกฟื้นขาดทุนมามีกำไรในทันทีตั้งแต่สิงหาคม-ธันวาคมปีหน้า 500-600 ล้านบาท จะมีรายได้จากค่าจ้างเดินรถเข้ามาเฉลี่ย 150 ล้านบาท/เดือน จากทั้งปีอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท และมีผู้โดยสารประมาณ 2 แสนเที่ยวคน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินขณะนี้มีผู้โดยสารอยู่ที่ 2.8 แสนเที่ยวคน/วัน" จัดชัตเติลบัสรับส่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้ประชาชนใช้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 จะพยายามเร่งรัดการเชื่อมการเดินทางระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานีที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสายปัจจุบันและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ทั้งนี้ แต่หากยังไม่สามารถเชื่อมได้ตามที่กำหนดจะมีระบบรถเวียน (Shuttle Bus) มาเป็นตัวนำส่งผู้โดยสารจากสถานีบางซื่อไปเตาปูนเป็นการชั่วคราว นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีเอ็มซีแอล เปิดเผยว่า การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในช่วงสถานีเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถเปิดทันรถไฟฟ้าสายสีม่วง หากไม่ทันก็อาจจะเลื่อนไปไม่กี่เดือน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนัก เนื่องจาก รฟม.มีแผนรองรับไว้แล้ว รอไฟเขียวจาก ครม. นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องการจ้างบริษัทบีเอ็มซีแอลมาเดินรถ 1 สถานี จากบางซื่อ-เตาปูนไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังไม่สามารถจะตอบได้ชัดเจนว่าจะเดินรถเชื่อมต่อกันได้ในเดือนไหน ขึ้นอยู่กับเซ็นสัญญา แต่จะพยายามเร่งรัดบริษัทให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ รฟม.จะหารถชัตเติลบัสมารับส่งเป็นการชั่วคราวไปก่อน ระหว่างที่รอการติดตั้งระบบแล้วเสร็จ "อัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่างศึกษาคาดว่าจะไม่ต่างจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน เริ่มต้นที่ 16-42 บาท ส่วนค่าแรกเข้าของทั้ง 2 ระบบอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน จะคิดค่าเชื่อมต่อ 2 ระบบหรือไม่คิดเลย เพราะใต้ดินเป็นสัมปทานแต่สายสีม่วงเป็นการว่าจ้างเอกชน ซึ่งจากผลศึกษาหากคิดค่าแรกเข้า 2 ครั้งปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนเที่ยวคน/วัน ถ้าไม่คิดผู้โดยสารอยู่ที่ 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน" เปิดประมูลพัฒนาพื้นที่ 16 สถานี สำหรับการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 16 สถานี ได้แก่ สถานีเตาปูน บางซ่อน วงศ์สว่าง แยกติวานนท์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ราชการนนทบุรี ศรีพรสวรรค์ แยกนนทบุรี 1 สะพานพระนั่งเกล้า ไทรม้า ท่าอิฐ บางรักใหญ่ บางพลู สามแยกบางใหญ่ ตลาดบางใหญ่และคลองบางไผ่ ทาง รฟม.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ร้านค้าในสถานีและ พื้นที่โฆษณาภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้าเบื้องต้นคาดว่าจะให้เช่า3-5ปี จะไม่ให้เป็นสัมปทานระยะยาว 10-20 ปีเหมือนที่ผ่านมา