ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว !! ประชาชนรับมืออย่างไร จากใจวิศวกร
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาร์ จนส่งผลกระทบถึงประเทศไทยในพื้นที่หลายจังหวัด และเกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนเป็นวงกว้าง เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ทำให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติได้เผยวิธีการรับมือในแบบฉบับประชาชนที่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งระหว่างและหลังเกิดเหตุว่าควรต้องปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้
– การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว
หากผู้ประสบภัยอยู่ภายในอาคารควรหาที่กำบังที่แข็งแรงเป็นอันดับแรก เช่น ใต้โต๊ะ เพื่อปกป้องศีรษะและร่างกายจากสิ่งของที่อาจตกกระทบใส่ร่างกายจนบาดเจ็บหรือร้ายแรงกว่านั้น ทั้งสิ่งของหนัก หลอดไฟ ฝ้าเพดาน พัดลม ผู้ประสบภัยควรหลบอยู่จนกว่าการไหวหรือการสั่นสะเทือนจะหยุดลง จึงเริ่มอพยพออกจากอาคาร ไม่ควรรีบอพยพขณะที่มีการสั่นสะเทือนอยู่เพราะนอกจากอันตรายของสิ่งของที่จะตกใส่เราแล้ว การสั่นไหวจะทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัย อาจเกิดการหกล้ม พลัดตกขั้นบันไดจนได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นการอพยพจำเป็นต้องอาศัยดุลยพินิจของผู้ประสบภัยด้วย หากการสั่นไหวสงบเพียงชั่วคราวแล้วมีการไหวต่อก็ยังไม่ควรอพยพ ควรรอจนกว่าจะสงบถึงจะอพยพ และหากเกิดการสั่นไหวขึ้นมาอีกครั้ง ต้องรีบหาที่กำบังทันที
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยต้องไม่ลืมที่จะตั้งสติให้ดีด้วย เพราะก่อนการอพยพยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆเพิ่มเติม เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าปกติ ไม่เปลือยเปล่าในที่สาธารณะ และสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการบาดเจ็บระหว่างอพยพ พกเครื่องมือสื่อสาร และพกบัตรแสดงตัวตนเสมอ เผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ขณะอพยพเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บจนหมดสติ จะสามารถระบุตัวตนได้
– ขั้นต่อไปหลังออกมาอยู่นอกอาคาร
ผู้ประสบภัยควรไปรวมตัว ณ จุดรวมพลที่เจ้าหน้าที่กำหนดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ควรยืนอยู่บริเวณใกล้อาคาร หรือยืนขวางหน้าประตูทางเข้า ซึ่งถือว่ายังไม่พ้นเขตอันตรายเพราะอาจมีชิ้นส่วนของอาคารหลุดร่วงลงมาทับหรือกระแทกจนเกิดอันตรายได้ นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยแล้วในจุดรวมพลที่เจ้าหน้าที่กำหนดจะมีหน่วยพยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับการบาดเจ็บระหว่างอพยพอยู่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์ยังชีพหรือน้ำดื่มสะอาดอีกด้วย ผู้ประสบภัยควรอยู่ในจุดรวมพลจนกว่าจะมีประกาศจากเจ้าหน้าที่ว่าสามารถกลับเข้าสู่อาคารได้อีกครั้งหนึ่ง
– หลังเหตุการณ์สงบ ต้องตรวจสอบความปลอดภัยของบ้านก่อนเป็นอันดับแรก
โดยปกติแล้วหากอาคารมีความเสียหายรุนแรงจนเห็นได้ชัดจากภายนอก ผู้อยู่อาศัยจะมีวิจารณญาณที่จะไม่กลับเข้าไปในตัวบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะการสังเกตความเสียหายจากตัวโครงสร้างบ้าน เช่น อาคารทรุด โครงสร้างบิดเบี้ยว เสาบ้านหัก กร่อน เห็นโครงเหล็กภายใน ถือว่ามีความเสี่ยงสูง และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งก็ไม่ควรกลับเข้าไป หรือถ้าจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่หรือมีผู้อื่นร่วมเข้าไปด้วยเผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือได้
การตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นนอกจากการสังเกตการณ์ภายนอกแล้ว การสำรวจภายในจะดูที่รอยร้าวของอาคาร โดยสามารถพิจารณาได้จากลักษณะดังนี้ คือ ขนาดรอยร้าว ลักษณะของการร้าว ความลึกของรอยร้าว แต่การพิจารณาเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วไปให้สังเกตจากรอยร้าว โดยขออ้างอิงหลักการอย่างง่ายจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ว่า “หากรอยร้าวเป็นเส้นเล็กเทียบเท่าเส้นผม ยังถือเป็นระดับความเสียหายที่ไม่รุนแรง แต่ถ้ารอยร้าวเทียบเท่าเส้นสปาเก็ตตี้ ถือว่าเริ่มอันตรายแล้ว” โดยหากรอยร้าวที่เกิดเทียบเท่าเส้นสปาเก็ตตี้หรือใหญ่กว่า จำเป็นต้องมีวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบ
นอกจากการตรวจสอบรอยร้าวตามผนังบ้านแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจสอบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจสอบบ้านเอียง องศาของตัวบ้านที่ผิดปกติ หรือบ้านมีอาการทรุดหรือไม่ พื้นและเพดานมีลักษณะวัสดุหลุดร่อนหรือรอยแตกหรือไม่ ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องโครงสร้างหลักของตัวบ้าน