ม.ธรรมศาสตร์ เร่งเพิ่มความเชื่อมั่นภาวะวิกฤตให้คนไทย ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมชี้ข้อเท็จจริง และแนวทางรับมือด้านโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัย สุขภาพจิต การรับมือข่าวสาร พร้อมพัฒนาระบบ AI ช่วยคนไทยลดข้อกังวลการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย
– มธ.เตรียมออกคู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน พร้อมเสริมความมั่นใจด้านการแตกร้าวของโครงสร้าง – อาคาร หนุนใช้ AI ช่วยเสริมทัพการประเมินงานก่อสร้างที่แม่นยำมากขึ้น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการครั้งพิเศษในหัวข้อ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับมือกับแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทย และยกระดับความสามารถของประชาชนในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชนในยามวิกฤต ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม- วิศวกรรมโยธา ซึ่งมีประสบการณ์ลงพื้นที่จริง แชร์วิธีการตรวจสอบรอยร้าวและความเสียหายเบื้องต้นของอาคารที่อยู่อาศัย พร้อมสาธิตเทคฯ AI ที่ช่วยในการประเมินสภาพอาคารผ่านการประมวลผลภาพถ่าย เพื่อให้ประชาชนและวิศวกรรมโยธาสามารถเข้าถึงเครื่องมือประเมินความปลอดภัยได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังดึงผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ จิตวิทยาและการสื่อสารที่มานำเสนอแนวทางในการปฏิบัติสำหรับประชาชนต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวทั้งด้านความปลอดภัย สภาพจิตใจ และการรู้เท่าทันข่าวสาร
รศ. ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเห็นชัดแล้วว่าภัยพิบัติกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมของประชาชนในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งแม้จะเกิดไม่บ่อยครั้งแต่ก็ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญต่อปัญหาจึงได้จัดงานเสวนาวิชาการพิเศษขึ้น ในหัวข้อ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว ฉบับประชาชน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนะแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างรอบด้านจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งวิศวกรรมโยธา แพทย์ จิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน ที่ได้ตกผลึกข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหาร “การเป็นมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคม”
รศ. ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับด้านโครงสร้างอาคาร ซึ่งการที่ตึกสามารถ “ยืดหยุ่น” และ “โยกตัวได้” ภายใต้แรงสั่นสะเทือนนั้น ถือเป็นหลักการออกแบบที่ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยอาคารยุคปัจจุบันนิยมใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งผสมผสานคุณสมบัติของ “ความแข็งแรง” จากคอนกรีต และ “ความเหนียว” จากเหล็กไว้ด้วยกัน ทำให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนและกระจายแรงได้ดี เทคนิคทางด้านออกแบบของตึกอาคารสูงในยุคนี้จึงออกแบบให้มีความยืดหยุ่นเพื่อกระจายแรงและรับน้ำหนักของตัวเองได้ หากไม่สามารถโยกตัวได้ อาจเสี่ยงต่อการแตกร้าวหรือพังทลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตัวอาคารเกิดการแกว่งตัวมากเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของโครงสร้าง โดยเฉพาะในกรณีที่โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้เพียงพอ หรือได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนก่อนหน้า แม้ในภาวะปกติอาคารจะถูกคำนวณไว้แล้วให้ทนต่อการสั่นไหวระดับหนึ่ง แต่หากเกิดแรงสั่นซ้ำซ้อน เช่น อาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง หรือตัวอาคารมีความเสียหายที่จุดในโครงสร้างเดิม อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการถล่มของโครงสร้างอาคารได้
รศ. ดร.พรหมพัฒน กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามองคือ ระบบตรวจสอบรอยร้าวด้วยภาพถ่าย (Crack Detection) ที่ใช้ AI ด้าน Computer Vision, Photogrammetry, และ large language model ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายของอาคารเพื่อประเมินรอยร้าว ความเอียงและความผิดปกติของโครงสร้าง โดยเฉพาะการใช้โดรนเก็บข้อมูลภาพถ่ายรอบตัวอาคาร และสร้างแบบจำลองโมเดลสามมิติ (3D Modeling) ช่วยให้สามารถตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่ตามองไม่เห็น เช่น ความเอียงเพียงเล็กน้อยของอาคาร หรือรอยร้าวที่มีแนวโน้มลุกลาม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อโครงสร้างในอนาคต โดยเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเสมือน “หมอเอกซเรย์อาคาร” ที่ช่วยมองทะลุความเสียหายที่ซ่อนอยู่ เพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และประเมิน ช่วยลดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการตรวจสอบแบบเดิม ทั้งนี้หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเทคฯ เหล่านี้มาใช้ได้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกันในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลโครงสร้างอาคารอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารทั่วประเทศได้ในระยะยาว
“InSpectra-o1” ต้นแบบแอปพลิเคชันสำหรับประเมินความเสียหายทางโครงสร้างได้จากภาพถ่ายด้วย AI ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย รศ. ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวังภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยยังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งานที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้ได้ เพื่อช่วยตรวจสอบและประเมินรอยร้าว ความเสียหายในเบื้องต้นของที่อยู่อาศัยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลของอาคารและบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นแบบแปลน โครงสร้าง หรือประวัติการซ่อมแซม จะช่วยให้วิศวกรเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว สามารถตรวจสอบอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังใช้เป็นหลักฐานประกอบการประกันภัย ลดข้อโต้แย้งและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยประเมินความเสียหายของอาคารได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้งานยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ AI สามารถประเมินได้เพียงราว 50-60% เท่านั้น จึงยังต้องอาศัยวิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมในจุดที่ AI ยังไม่ครอบคลุม ทั้งนี้ In Spectra-o1 ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ประชาชนสามารถถ่ายภาพและอัปโหลดได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกข้อมูล ระบบจะเริ่มวิเคราะห์เบื้องต้นโดยอัตโนมัติ หากทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้ AI สามารถประเมินได้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต”