เปิดเช็กลิสต์เตรียมพร้อมสำหรับมือใหม่ อัปสเต็ปความมั่นใจเมื่อคิดซื้อบ้านหลังแรก
แม้ปัจจัยแวดล้อมจะสั่นคลอนแผนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคบางส่วน แต่ความต้องการซื้อยังคงมีอยู่ ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามฯ (50%) วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากในรอบก่อนหน้าที่มีเพียง 44% โดยได้รับแรงกระตุ้นมาจากมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ ประกอบกับการที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างจัดโปรโมชั่นอย่างดุเดือดหวังกระตุ้นยอดขายช่วงโค้งสุดท้ายของปี จึงถือเป็นโอกาสทองของผู้ที่มีความพร้อมทางการเงินหรือมีเงินเก็บที่จะซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมเช่นกัน
ขณะที่จำนวนอุปทานในตลาดอสังหาฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจภาวะภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2567 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) พบว่า อุปทานที่อยู่อาศัยเสนอขายในตลาดที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) มีจำนวน 229,528 หน่วย มูลค่ารวม 1,350,586 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 11% และ 30.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวน 17,197 หน่วย มูลค่ารวม 128,440 บาท สะท้อนให้เห็นว่าอุปทานที่อยู่อาศัยยังคงมีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้ซื้อในเวลานี้
เทรนด์หาบ้านออนไลน์โตต่อเนื่อง คนสนใจบ้านมือหนึ่งเพราะอยากได้บ้านใหม่แกะกล่อง
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เผยว่า จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2567 เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่แม้จะไม่ได้คึกคักเท่าที่ผ่านมา โดยช่องทางออนไลน์ยังครองใจคนหาบ้านและเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากแบบสอบถามฯ DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ช่องทางยอดนิยมที่ผู้บริโภคใช้ค้นหาข้อมูลเมื่อซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น 62% นิยมใช้เว็บไซต์โครงการมากที่สุด รองลงมาคือ Google ในสัดส่วนไล่เลี่ยที่ 60% และกลุ่มอสังหาฯ ในโซเชียลมีเดีย 51% ขณะที่แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อย่าง YouTube (39%) และ TikTok (20%) ยังเป็นอีกช่องทางที่คนหาบ้านให้ความสนใจ โดยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในกลุ่มอายุ 22-29 ปี เนื่องจากสามารถถ่ายทอดบรรยากาศจริงของโครงการได้ดีกว่าและมีรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย ตอบโจทย์เทรนด์การเสพสื่อในยุคนี้
สำหรับฟิลเตอร์หรือตัวเลือกในการค้นหาที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด กว่า 2 ใน 3 (67%) ต้องการฟิลเตอร์ค้นหาจากทำเลที่ตั้ง รองลงมาคือฟิลเตอร์ค้นหาตามขนาดที่อยู่อาศัย 62% และฟิลเตอร์ที่ช่วยแยกระหว่างที่อยู่อาศัยโครงการใหม่และมือสอง 58% โดยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง (71%) ซึ่งช่วยคัดกรองบ้าน/คอนโดฯ ที่ต้องการได้ในเบื้องต้นและมีผลเกี่ยวเนื่องไปยังการวางแผนค่าใช้จ่ายตามไปด้วย เนื่องจากโครงการเปิดใหม่จะมีข้อเสนอที่ดึงดูดใจมากกว่า ผู้พัฒนาอสังหาฯ มักจัดโปรโมชั่นร้อนแรงกระตุ้นยอดขายในช่วงเปิดตัวโครงการใหม่อย่างเต็มที่ และเมื่อกู้ซื้อบ้านมือหนึ่งยังมีโอกาสได้วงเงินที่สูงกว่าการกู้ซื้อบ้านมือสองอีกด้วย
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ในปี 2567 นี้ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อบ้าน/คอนโดฯ มือหนึ่งนั้น กว่า 4 ใน 5 (83%) เลือกเพราะอยากได้ที่อยู่อาศัยในสภาพใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ไม่ต้องกังวลว่าบ้านจะทรุดโทรมหรือเจ้าของเดิมจะแอบซ่อนความเสียหายไว้ รองลงมา 67% ต้องการตกแต่งบ้านตามสไตล์ที่ชื่นชอบ ขณะที่ 66% มองว่าบ้านมือหนึ่งมีโปรโมชั่นต่าง ๆ มากกว่า ตอบโจทย์ในการวางแผนค่าใช้จ่าย ส่วน 59% มองว่ารูปแบบบ้าน/ห้องของโครงการเปิดใหม่มีความทันสมัยมากกว่า และ 56% มองว่าไม่มีประวัติหรือเหตุการณ์ร้าย/น่ากลัว ทำให้อุ่นใจและลดความกังวลไปได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นจุดเด่นของบ้านมือหนึ่งได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวอาเซียนที่ให้บ้านมือหนึ่งเป็นตัวเลือกอันดับแรกเมื่อคิดซื้อที่อยู่อาศัย ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนจากเว็บไซต์ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป (NYSE: PGRU) พบว่า ชาวมาเลเซีย 72% และชาวเวียดนาม 52% สนใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมือหนึ่งมากที่สุด โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของภาครัฐ ประกอบกับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความพึงพอใจในสภาพตลาดที่อยู่อาศัยของ 2 ประเทศนี้มีทิศทางเป็นบวกตามไปด้วยเช่นกัน