ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศแผนธุรกิจปี 2567 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เดินหน้าเปิดโครงการใหม่ 8 – 12 โครงการ มูลค่า 7,000 – 8,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 6,550 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท
ลลิลฯ ประกาศแผนธุรกิจปี 2567 เดินหน้าขยายธุรกิจ สู่การเป็น National Property Company มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องอีก 8 – 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7,000 – 8,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนโครงการเดิมที่ใกล้จบ ตลอดจนขยายไปยังทำเลที่มีศักยภาพใหม่ๆ พร้อมตั้งเป้ายอดขายและยอดรับรู้รายได้เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยตั้งยอดขายที่ 6,550 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท งบการจัดซื้อที่ดิน 1,500 ล้านบาท
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul, Chairman of Executive Board, Lalin Property Plc.) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า โลกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นขัดแย้งที่ก่อเกิดขึ้นเป็นระยะในหลายภูมิภาค การพยายามควบคุมเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป โดยเฉพาะเฟดมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 5.25% – 5.50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2565
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเศรษฐกิจมีการพึ่งพิงต่างประเทศอย่างมาก ทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ตลอดจนประเทศจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งปีน่าจะหดตัวที่ราว 1.5% ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2565 แต่ก็เป็นการขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ก็หดตัวลงจากจัดตั้งรัฐบาล และการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ราว 2.5% – 3.5% อย่างไรก็ตามยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก มาตรการกระตุ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ภายในประเทศ ภาระหนี้สาธารณะ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ดีมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นี้ ยังคงมีปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็นการที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย การต่ออายุมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปถึงสิ้นปี 2567 การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ น่าจะดีขึ้น รวมถึงการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ