แนะวิธีการเตรียมตัวให้พร้อม รับมือเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย โดย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
ปัจจุบันการใช้ชีวิตมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป จากอาคารแนวราบมาเป็นอาคารแนวสูงและมีขนาดใหญ่ ซึ่งอาคารสูงจะมีความสลับซับซ้อนของพื้นที่และงานระบบวิศวกรรมที่มากกว่า ดังนั้นหากเราเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องอาศัยหรือใช้ชีวิตในอาคารสูง ก็ควรต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เราเองมีความปลอดภัยในการใช้อาคารนั้นๆ อย่างเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเมียนมา และความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 500 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาเกิดได้ นอกจากจะมีเตือนภัยจาก Line Alert บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงแล้ว ควรต้องรู้วิธีเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับการรับมือการเกิดแผ่นดินไหว
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้นำธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท วันนี้มีข้อแนะนำเบื้องต้น ทั้งในมุมของผู้ใช้อาคารที่ต้องดูแลตนเองเมื่อเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงในมุมของผู้ดูแลอาคารที่ทำการตรวจสอบสภาพอาคารสูงทั้งคอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน เพื่อเตรียมความพร้อมอาคารให้ปลอดภัยทั้งโครงสร้าง และงานระบบวิศวกรรมอาคาร
ผู้ใช้อาคารต้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งผู้ใช้อาคารควรมีการจัดเก็บของให้เป็นระเบียบ รวมถึงการสำรวจเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในห้องให้มีการยึดติดกับผนังหรือพื้นอาคารให้แน่นหนา ไม่วางสิ่งของที่น้ำหนักมากบนที่สูง เช่น ตู้ โต๊ะ เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นทับ ในการปฏิบัติตัวขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ควรยึดหลัก ‘หมอบ ป้อง เกาะ’ ในการป้องกันตนเองจากแรงสั่นสะเทือน และรอจนกว่าจะมีผู้เข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่ติดอยู่ในอาคารสูงและหนีไม่ทัน ที่สำคัญห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะอาจติดค้างจนเสียชีวิต เมื่อแผ่นดินไหวสงบ ค่อยออกจากอาคาร แนะนำวิธีการป้องกันเมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ภายในที่พักอาศัย หมอบลงกับพื้น ป้องกันสิ่งของตกใส่โดยการหลบใต้โต๊ะที่มีโครงสร้างแข็งแรงหรือที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ พร้อมเกาะไว้ให้แน่น ถ้าหากอยู่ไกลจากโต๊ะก็ให้หมอบลงกับพื้นและใช้แขนทั้งสองข้างป้องกันศีรษะและลำคอ โดยให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง หน้าต่าง และห้ามออกภายนอกที่พักอาศัยโดยเด็ดขาด ภายนอกที่พักอาศัย ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวน ซึ่งที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง ขณะขับรถ ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด ถ้าเกิดเสาไฟล้มทับให้รออยู่ภายในรถจนกว่าจะมีผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือ อยู่ใกล้แนวชายฝั่ง ใช้หลักการ หมอบ ป้อง เกาะ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุด ถ้าการสั่นสะเทือนนานถึง 20 วินาที หรือมากกว่า ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงเพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง หรือห่างจากชายฝั่งเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร หรือที่ที่สูงจากน้ำทะเลอย่างน้อย 30 เมตร และหลังเหตุแผ่นดินไหวสงบ ผู้ใช้อาคารไม่อยู่ใกล้พื้นที่อาคารชำรุดหรือผนังชำรุด ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง