ซีบีอาร์อีเผยการลงทุนโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัว ส่งสัญญาณนักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
ในปี 2564 การลงทุนโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 46% ต่อปี ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนมองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและเปลี่ยนทรัพย์สิน
การลงทุนโรงแรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 46% เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท (1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดโรงแรมได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจากบรรดานักลงทุนที่ต้องการขยายการลงทุนสู่ตลาดนี้ อ้างอิงจากรายงานฉบับล่าสุดของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี
ที่มา: แผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก มีนาคม 2565
“โรงแรมเป็นหนึ่งในตลาดที่พร้อมจะได้รับประโยชน์เมื่อมีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้อีกครั้ง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น ตลาดโรงแรมนั้นให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับความเสี่ยง รวมถึงยังมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด นอกจากนี้ โรงแรมยังได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะทรัพย์สินที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพราะโรงแรมมีการปล่อยเช่าห้องพักเป็นรายวัน ไม่ใช่รายเดือนหรือรายปีอย่างอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น” นายสตีฟ แคร์รอล หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าว
ซีบีอาร์อีพบว่าตลาดโรงแรมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่า ดังนั้น การเปิดพรมแดนและการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางส่งผลให้บรรดานักลงทุน เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) การลงทุนส่วนบุคคล และการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เข้าซื้อกิจการโรงแรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อยกระดับการบริการให้แก่ผู้เข้าพักด้วยความคาดหวังถึงความต้องการสะสมจากนักท่องเที่ยว และปรับเปลี่ยนโรงแรมบางแห่งให้เป็นพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยร่วมกัน (Co-living Space)
ซีบีอาร์อีเริ่มเห็นว่ามีการเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในฮ่องกงและสิงคโปร์ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยราคาประหยัดท่ามกลางสภาวะตลาดเช่าที่พักอาศัยที่ไม่มีความยืดหยุ่นนัก นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “สำหรับประเทศไทย เจ้าของโรงแรมและผู้พัฒนาโครงการกำลังปรับวิธีการใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตในวิถีใหม่หลังจากผ่านประสบการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่บางรายอาจหาโอกาสในการขายโรงแรมของตนเอง”
“สำหรับโรงแรมต่าง ๆ ที่ให้เปิดบริการอยู่ ผู้ให้บริการและนักลงทุนหลายรายได้ใช้ประโยชน์จากช่วงที่มีการแพร่ระบาดซึ่งมีผู้เข้าพักน้อยไปกับการปรับปรุงโฉมโรงแรมใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาพักเต็มจำนวน โดยลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ถูกมาใช้เป็นจุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่าง” นายอรรถกวี กล่าวเสริม