มั่นคงฯ แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 2/2564 รายได้รวม 535.78 ลบ. ลุยขยายธุรกิจโรงงาน/คลังสินค้าต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพได้รับผลกระทบโดยตรง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) เผยผลประกอบการบริษัทฯ มีรายได้รวมในไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 535.78 ล้านบาท ลดลง 36.7% เนื่องจาก บจ.พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ มีการขายทรัพย์สินกว่า 130,000 ตารางเมตร เข้ากอง REIT อีกทั้งธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบายปิดประเทศของภาครัฐเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 68.90 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 2 รายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 400.27 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 135.51 ล้านบาท มาจากธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) และอื่นๆ โดยบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสู่ธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่อง พร้อมประกาศขยายธุรกิจโรงงาน/คลังสินค้าเพิ่มอีก 2 แห่ง รองรับลูกค้า ผู้ประกอบการ ที่ต้องการใช้บริการในฝั่งตะวันออกและฝั่งภาคกลางตอนล่างเพิ่ม
นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เพื่อเช่าและเพื่อการบริการ เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) ว่า ครึ่งปีแรกบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,107.32 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2/ 2564 สามารถทำรายได้ 535.78 ล้านบาท ลดลง 36.7% เป็นผลจากบริษัทลูก บจ.พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ ได้ขายทรัพย์สินกว่า 130,000 ตารางเมตร เข้ากอง REIT และธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพโครงการ รักษ (รัก–ษะ) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการความคุมการแพร่ระบาดโควิด19 ของภาครัฐ ซึ่งยังอยู่ในช่วงปิดประเทศ ทำให้ไม่สามารถรับลูกค้าจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามทาง รักษ ได้ปรับตัวเพื่อทำแพ็คเกจรองรับการให้บริการคนในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเร่งการทำประชาสัมพันธ์และยังทำการตลาดร่วมกับคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และกลุ่มลูกค้าจากเครือไมเนอร์ กรุ๊ป เพื่อให้เกิดการรับรู้และดึงลูกค้าในประเทศเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 มีรายได้รวม 400.27 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับ ไตรมาสแรก เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศษฐกิจภาพรวม กระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้า ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน ทำให้ศักยภาพในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง อีกทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้มีการปรับแผนรับมือสถานการณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง เน้นกลยุทธ์การตลาดโดยการนำเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้ สร้างการรับรู้ ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) เพื่อนำเสนอสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นใจในมาตรการเข้าเยี่ยมชมโครงการอย่างปลอดภัย ตลอดจนการจัดแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อช่วยลดภาระของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้านกลยุทธ์การขายมีการนำเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง 360 Virtual Tour และ Photo Gallery เพื่อให้ลูกค้าสามารถเยี่ยมชมโครงการได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึง Private Home Tourให้ลูกค้าเยี่ยมชมโครงการ พร้อมสอบถามข้อมูลกับพนักงานแบบ Real – Time ส่งผลให้มีลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการมาจากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 20% นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถจองที่อยู่อาศัยผ่านช่องทาง line official พร้อมมีทีม Munkong Financial Team คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และอำนวยความสะดวกในเรื่องสินเชื่อให้กับลูกค้าผ่าน line official เพื่อต่อยอดการสร้างโอกาสในการขายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในการบริหารสินค้าคงเหลือและสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น