PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์สภาพตลาดคอนโดมิเนียมในย่านพร้อมพงษ์-ทองหล่อ
พื้นที่ CBD (Central Business District) ในกรุงเทพฯทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นย่าน สีลม สาทร ลุมพินี อโศก และพระรามเก้า ล้วนแล้วแต่เป็นย่านที่ถูกหมายปองโดยเหล่าดีเวลลอปเปอร์ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ปัญหาการจราจรที่ติดขัดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ต้องการที่จะมีที่พักอาศัยอยู่ในย่าน CBD เพียงเพื่อต้องการที่จะเดินทางไปทำงานได้สะดวก แม้ว่าราคาที่พักอาศัยในย่านนี้ จะมีราคาที่สูงกว่าย่าน Residential Area อื่นๆ อีกทั้งยังมีขนาดห้องที่เล็กกว่า ด้วยความนิยมในการอยู่อาศัยในย่าน CBD ดังที่กล่าวมา บวกกับเทรนด์ของราคาคอนโดที่สูงขึ้น และเส้นทางเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ทำให้ย่านใกล้เคียงอย่าง Extension Business District (EBD) ได้รับความสนใจในการพัฒนาโครงการ และตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเข้าถึงย่าน CBD ได้ง่าย และมีราคาขายที่มักจะถูกกว่า โดยพื้นที่ EBD ที่สำคัญได้แก่ บางจาก, รามคำแหง, รัชโยธิน และราชพฤกษ์ ซึ่งล้วนแต่เป็น Residential Area ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
แต่ก็มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มีความต้องการอยู่อาศัยในย่านที่มีความเป็น Lifestyle มากกว่าในย่านเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดวุ่นวาย โดยย่านไลฟ์สไตล์ที่สำคัญในกรุงเทพฯ ก็จะประกอบด้วย ย่านสยาม, อารีย์ ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่มาตั้งแต่อดีต ทำให้ที่นี่มีทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ร้านอาหารฟิวชั่นหลากหลายสัญชาติ มารวมกันอย่างครบถ้วน มีคอมมูนิตี้ มอลล์ที่ทุกคนรู้จัก อย่าง ลา วิลล่า ไปจนถึงแหล่งไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้ชีวิตในตอนกลางวัน และการแฮงก์เอาท์ในตอนกลางคืน, ย่านลาดพร้าว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางขนาดใหญ่ที่เชื่อมกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าไว้ด้วยกัน รายล้อมด้วยอาคารสำนักงาน แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง รวมถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังแหล่งสำนักงาน ธุรกิจ โรงพยาบาล รวมทั้ง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้ง่าย, ย่านทองหล่อ และเอกมัย ย่านที่มี Flagship Store สุดเก๋มากมาย ทั้งร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ผับบาร์เลื่องชื่อ และคอมมูนิตี้มอลล์ มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ทั้งยังใกล้ Shopping Destination ชั้นนำมากมาย เป็นศูนย์รวมของออฟฟิศของเหล่า startup พร้อมสถานีขนส่งเอกมัย จนหลายๆคนขนาดนามว่าที่นี่เป็น Central Millennials District (CMD) และย่านพร้อมพงษ์ แหล่งรวมศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ได้แก่ ดิ เอ็มโพเรียม , ดิ เอ็มควอเทียร์ ตลอดจนดิ เอ็มสเฟียร์ ที่จะทำการเปิดในอนาคต รวมถึงแหล่งธุรกิจ โรงเรียน โรงพยาบาลชั้นนำ ที่รองรับไลฟ์สไตล์นานาชาติที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นสุดยอดทำเลที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ใจกลางเมืองที่ได้รับความนิยมจากคนไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
พร้อมพงษ์ – ทองหล่อ ย่านไลฟ์สไตล์ชั้นนำที่เป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ
กรุงเทพมหานครมีทำเลที่จัดได้ว่าเป็นที่สุด ซึ่งสามารถพัฒนาโครงการคอนโดระดับ Super Luxury และทำยอดขายได้ดีอยู่ไม่กี่แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคงต้องนับพื้นที่ตั้งแต่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ ไปถึงพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ และซอยทองหล่อ ทำเล CBD อื่นๆ อาจจะมีอาคารสำนักงานเยอะมากขึ้นไปถึงหลักล้านตารางเมตร เช่น สีลม สาทร แต่ขาดเรื่องของพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยมักจะมีแต่ร้านสะดวกซื้อ หรือโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็ก ดูแล้วขาดสีสันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้ว่าราคาที่ดินจะปรับเพิ่มขึ้นไปเกิน 2 ล้านบาทต่อตารางวา แต่ก็ยังไม่ถือได้ว่าเป็นทำเลที่มีความพร้อมในทุกด้าน เพราะพื้นที่ค้าปลีกจะอยู่ที่สีลมมากกว่าสาทร หรือบางทำเล เช่น พื้นที่รอบๆ สวนลุมพินีซึ่งมีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาคารสำนักงาน โรงแรม สถาบันการศึกษา แต่พื้นที่บางส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันการศึกษา หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงตามศักยภาพที่ควรจะเป็น หรือมีการพัฒนาโดยเอกชนแบบชัดเจนตามที่ศักยภาพของพื้นที่ ทั้ง 2 พื้นที่ที่กล่าวไปแล้วมีการพัฒนาต่อเนื่องมามากกว่า 30 ปี โดยพื้นที่สีลม สาทรมีความเป็นศูนย์กลางธุรกิจมาตั้งแต่อดีตก่อนที่จะขยายตัวมาตามถนนพญาไท พระราม 1 เพลินจิต สุขุมวิท และพระราม 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน แต่ด้วยปัญหาของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นข้อจำกัดหลักในการกำหนดรูปแบบโครงการที่จะพัฒนา ดังนั้น เอกชนหลายรายจึงเลือกที่จะหาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในพื้นที่หรือทำเลที่เลยออกไป
ช่วงก่อนปีพ.ศ.2540 การขยายตัวของพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจอาจจะอยู่ในช่วงสุขุมวิทตอนต้นเท่านั้น จนเมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายออกไปตามแนวถนนสุขุมวิท พื้นที่ถัดออกไปจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้พื้นที่ที่เลยสี่แยกอโศกไป อย่างพร้อมพงษ์ได้รับความสนใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน คือ การที่กลุ่มเดอะมอลล์พัฒนาโครงการเอ็มโพเรี่ยมขึ้นมาแถวพร้อมพงษ์ ซึ่งเปิดให้บริการก่อนที่สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์จะเปิดใช้งานในปีพ.ศ.2542 การเปิดให้บริการของเอ็มโพเรี่ยมเหมือนเป็นการผลักดันให้ทำเลนี้มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เพราะว่านอกจากจะมีเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้าแล้วยังมีศูนย์การค้าระดับหรูหรา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องในพื้นที่ หลายๆ ซอยในพื้นที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ เช่น โครงการอาคารสำนักงาน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ เปิดให้บริการกันต่อเนื่อง โดยที่เห็นได้ชัดก็ซอย 24 26 31 35 37 39 เป็นต้น
Carlton Hotel Bangkok Sukhumvit
หนึ่งในเครือคาร์ลตันโฮเทล แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาวสัญชาติสิงคโปร์ ตึกสูงขนาด 34 ชั้น มีห้องพักถึง 338 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลตัน คลับ เลาจ์, สปาโดย Let’s Relax และสระว่ายน้ำกลางแจ้ง
ภาพจาก : https://www.carltonhotel.co.th/
HOTEL FORZA Sukhumvit Bangkok (โรงแรมฟอร์ซา สุขุมวิท แบงคอก)
จากกลุ่ม FJ group ประเทศญี่ปุ่น โรงแรมขนาด 28 ชั้น จำนวน 323 ห้อง ในซอยสุขุมวิท 29
ภาพจาก : https://tts2004.co.th/work/hotel-forza-bangkok-sukhumvit/
Compass SkyView Hotel Sukhumvit 24 (โรงแรม คอมพาส สกายวิว สุขุมวิท 24)
ตั้งอยู่ในใจกลางศูนย์รวมของแฟชั่นอย่างซอยสุขุมวิท 24 ที่รอบล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำกลางแจ้ง ห้องฟิตเนส ไปจนถึงห้องอาหารบนดาดฟ้าหลากหลายสไตล์ และพื้นที่สำหรับสังสรรค์อย่างบาร์และไนท์คลับสุดหรู ตอบโจทย์นักเดินทางได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ภาพจาก : https://blog.traveloka.com/th/local-accommodation/compass-skyview/
New Head Office UOB
สำนักงานใหญ่ของ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) เป็นอาคารสำนักงานสูง 31 ชั้น ใต้ดิน 6 ชั้น จำนวน 1 อาคาร
ภาพจาก : https://www.skyscrapercity.com/threads/uob-headquarters-31-storey-sukhumvit-26.1976284/