“งานออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” นิปปอนเพนต์ พารู้จักสองผลงานผู้ชนะ Asia Young Designer Awards 2020
ประกาศผลผู้ชนะจากประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการแข่งขันการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในเพื่อสังคมอย่าง Asia Young Designer Awards 2020 (AYDA 2020) โดย บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 1,300 ผลงาน ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา หรือ ต่อ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai และ ทรวงชนก วงศ์พลกฤต หรือ พราว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรกับผลงาน Melodium สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner รับรางวัลเงินสดมูลค่า 100,000 บาท และของรางวัลอีกมากมายกลับบ้านไปได้อย่างสง่างาม พร้อมเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit 2020 ที่ประเทศพันธมิตร ร่วมกับผู้ชนะจากหลากหลายประเทศทั่วเอเชีย เพื่อชิงโอกาสในการเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard’s Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ทั้งสองผลงานของต่อและพราวตอบโจทย์การแข่งขันอย่าง “FORWARD: Human-Centred Design” ที่มุ่งผลักดันให้นักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลัก ผ่านการสร้างกระบวนการคิด สังเกตพฤติกรรม และเรียนรู้ในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ใช้งานออกแบบนั้นๆ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาด้านการใช้งาน แล้วนำผลจากการเรียนรู้มาสร้างสรรค์งานออกแบบ โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐาน ตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหา ให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สำหรับผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai ของต่อ เป็นงานออกแบบอาคารประเภทที่อยู่อาศัยที่นำเอาพื้นที่บริเวณคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานไม่ถูกต้อง เพราะอยู่ในระยะถอยร่นจากคลอง และไม่มีสาธารณูปโภคที่ดี มาเป็นชุมชนต้นแบบในการสร้างผลงาน โดยแนวคิดแรกเริ่มของศุภกรคืออยากออกแบบผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ภาครัฐและภาคชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันได้ จึงได้นำเอาแรงบันดาลใจจากกลุ่ม Archigram สถาปนิกอังกฤษเจ้าของผลงาน Plug-in City ซึ่งเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคได้ตามต้องการ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหาก Illegal Settlement in Chiang Mai ได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง จะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการด้านโครงสร้างและระบบ โดยมีภาคชุมชนและคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างส่วนอื่นๆ เช่น ฝาบ้าน และ หลังคา ซึ่งมีผลในแง่จิตวิทยา ช่วยสร้างความเป็นเจ้าของ อยากที่จะดูแลรักษา ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม