Big Data จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างไร
ยุคต่างๆ ของข้อมูลข่าวสารสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และปัญหาในการใช้ข้อมูล
บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในสมัยก่อนมักใช้สัญชาตญาณและข้อมูลแบบดั้งเดิมเพื่อประกอบการตัดสินใจในธุรกิจ ปัจจุบันเรามีตัวแปรอื่นเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้เห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้นว่าทำเลใดในอนาคตมีความเสี่ยงหรือนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ
จากรายงานพบว่าราคาบ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกับซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Whole food และ Trader’s Joe ในบอสตันมีมูลค่าเพิ่มอย่างรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น หรือบ้านที่อยู่ใกล้ร้านกาแฟอย่าง Starbucks ก็ถูกพบว่ามีราคาสูงขึ้น 171% ในช่วงปี 1997 ถึง 2014 ถึงกระนั้นการที่บ้านอยู่ใกล้เคียงกับร้านค้าก็ไม่ได้ส่งผลต่อการขึ้นราคาเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นที่น่าสนใจกว่า เช่น การเข้าถึงคุณภาพชีวิตและชุมชนโดยรอบที่มีคุณภาพ
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนักพัฒนาอสังหาฯ และนักลงทุน คือ ความไม่เชื่อมต่อกันระหว่างข้อมูลที่มีอยู่กับความสามารถในการดึงข้อมูลมาใช้ในเชิงปฏิบัติได้อย่างทันท่วงที หากสามารถจับเทรนด์ที่ซ่อนอยู่ในตลาดได้ช้าก็หมายความว่าเรากำลังสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามหากสามารถเดินหน้าไปหาโอกาสได้เร็วก็หมายถึงการมีข้อได้เปรียบอยู่เหนือคู่แข่งรายอื่น แล้วทำไมการเป็นคนแรกที่สามารถคว้าโอกาสมาครองได้ถึงฟังดูยากนักหรือ? เพราะการนำข้อมูลแบบเดิมๆ มาใช้ในการวิเคราะห์มักทำให้ยากต่อการสร้างสมมติฐานหรือกรณีศึกษาทางธุรกิจที่ชัดเจน ด้วยกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยาก นักวิเคราะห์ต้องค้นหาข้อมูลเป็นพันล้านรายการในฐานข้อมูลมาเพื่อใช้ในแบบฟอร์มที่ไม่ชัดเจนและมีโปรแกรมช่วยเหลืออันน้อยนิดในการรวบรวมข้อมูล กว่าข้อมูลจะไปถึงนักลงทุนให้ได้ประมวลผลและกลั่นกรอง โอกาสทางธุรกิจนั้นก็หลุดลอยไปแล้ว