สรุปทุกประเด็นเด็ดจากงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2019”
เสร็จสิ้นไปอีกหนึ่งงานกับงานสัมมนาที่ให้ได้ให้ความรู้และยังถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของทิศทางธุรกิจคอนโดมิเนียมในปี 2019 ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในภาวะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และดีเวลลอปเปอร์รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีความคิดเห็นและหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ยังไง ผ่านการสัมมนาในหัวข้อ “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียมปี 2019”
โดยภายในงานสัมมนามีข้อหัวหลักๆ ที่จะให้ความรู้แก่ผู้ร่วมเข้าฟังภายในงาน คือ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อนาคตของการขนส่งระบบรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”, สัมมนา เรื่อง “ผังเมืองใหม่กับผลกระทบต่อธุรกิจคอนโดมิเนียม” และสัมมนา เรื่อง “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2019”
ซึ่งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อนาคตของการขนส่งระบบรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ได้รับเกียรติจาก คุณสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม มาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ โดยมีหัวข้อหลักๆ คือ สภาพการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปัจจุบัน, แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP : ปี 2553-2572), แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) และสถานีกลางบางซื่อศูนย์รวมการเดินทางระบบรางของประเทศ
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 8 ของโลกในเรื่องของรถติดมากที่สุดในปี 2561 เนื่องมาจากประชากรในประเทศหันมาใช้รถส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะ เนื่องจากความสะดวกสบายในการเดินทางและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะ คิดได้เป็น 82% ของคนที่ใช้รถส่วนตัวนั่นเอง
โดยแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP : ปี 2553-2572) นั้นจะเป็นการวางแผนและการดำเนินการก่อสร้างการขนส่งระบบรางให้แล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ทุกสาย ทุกสถานี และมีเป้าหมายของการพัฒนาระบบขนส่งที่มีความสะดวก ตรงเวลา ปลอดภัย รวมถึงมีราคาที่สมเหตุสมผลเช่นกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลชนกันมากขึ้น
ภายในปี 2572 จะมีการเปิดใช้บริการของระบบขนส่งทางรางรวม 557.56 กม. แบ่งเป็น 351 สถานี และอีก 56 สถานีเชื่อมต่อ เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
และต่อด้วยแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ขยายเส้นทางระบบขนส่งทางรางให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกของประชาชนที่อยู่แถวปริมณฑลให้สามารถเดินทางเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็ว และจะขยายรัศมีการศึกษาออกไปอีก 20 กม. เป็น 40 กม. ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม, จ.นนทบุรี, จ.ปทุมธานี, จ.สมุทรปราการ, จ.สมุทรสงคราม, จ.อยุธยา และ จ.ฉะเชิงเทรา
โดยมีโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มเติม 5 สาย ระยะทางรวมกว่า 131 กม. ในอนาคตประเทศไทยจะกลายเป็นมหานครแห่งระบบรางติดอันดับ 3 ของโลก
สถานีกลางบางซื่อศูนย์รวมการเดินทางระบบรางของประเทศ ซึ่งเป็นสถานีกลางของรถไฟทางไกล ที่จะใช้แทนสถานีหัวลำโพงเพื่อลดจำนวนของรถไฟให้เข้าไปยังสถานีหัวลำโพงให้น้อยที่สุด ซึ่งภายในจะมีชานชาลา 26 แห่ง เชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น รถไฟใต้ดิน, รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนและแดงเข้ม และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สะดวกสบายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่จะมาเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อจากย่านปทุมธานีเข้าสู่ใจกลางเมือง มีระยะทางประมาณ 19 กม. คาดจะเปิดให้ใช้บริการภายในปี 2563