ทำไมย่านพระโขนง – บางนาจึงถูกวางให้เป็นย่านนวัตกรรมของกรุงเทพมหานคร ?
ก่อนอื่นผู้เขียนจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจก่อนว่าย่านนวัตกรรมคืออะไร? ทำไมถึงต้องเป็นย่านนวัตกรรม?
ย่านนวัตกรรม หรือ Innovation District เป็น การนำคำว่า “นวัตกรรม” กับ “ย่าน” มารวมกัน ซึ่งย่านนวัตกรรมเป็นการรวมตัวกันของคนและพื้นที่การสร้างงาน สร้างกิจกรรม โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวนิยามของ การพัฒนาย่านนวัตกรรม ไว้ 3 องค์ประกอบหลัก ประกอบไปด้วย
1. Economic asset หน่วยงานที่สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมของย่านนวัตกรรม, 2.Physical asset เป็นพื้นที่หน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชน และ 3.Network asset ความสัมพันธ์ตัวผลักดันในด้านนวัตกรรม เช่น ความสัมพันธ์ของนักลงทุนกับธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาย่านนวัตกรรมมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทางเศรษฐกิจ โดยการดึงดูด นวัตกร (Innovator) เข้ามาทำงานในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนวัตกรเหล่านี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
ถ้าทุกท่านยังนึกภาพไม่ออก ในต่างประเทศก็มีการพัฒนาเมืองโดยใช้แนวคิดย่านนวัตกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มในการวางผังเมือง และ ยังเป็นรูปแบบที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในเมืองมหานครทั่วโลก โดยในปัจจุบันมีการสร้างย่านนวัตกรรมหลายแห่ง เช่น เมือง บาร์เซโลนา ประเทศสเปน, เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ สิงคโปร์ก็มีโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมอย่าง จูร่ง (Jurong Innovation District) ที่มีพื้นที่กว่า 600 Hectare พัฒนาเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำ โรงงานแห่งอนาคต ภาคการผลิตขั้นสูง รวมถึงมีระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ
ภาพจาก : Jurong Innovation District (aecom.com)
สำหรับในประเทศไทย ก็มีหลายย่านที่จะพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งทาง NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายร่วมกันศึกษา ได้มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม 11 พื้นที่ โดยย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯมีทั้งหมด 7 ย่านที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ Medical Knowledge Quarter ย่านโยธี, Central Innovation District ย่านลุมพินี ปทุมวัน, Community Based Innovation ย่านคลองสาน, The Leading hub of creative รัตนโกสินทร์ และ ย่านอื่นๆอย่าง อารีย์ ลาดกระบัง กล้วยน้ำไท ปุณณวิถี(ย่าน พระโขนง – บางนา) โดยย่าน ปุณณวิถี ทาง NIA ได้ทำการร่วมมือกับ True Digital Park เพื่อพัฒนาเป็น Bangkok Cybertech District นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในภาคตะวันออกของประเทศไทยใน 4 พื้นที่ คือ บางแสน ศรีราชา พัทยา และ อู่ตะเภาบ้านฉาง เป็นต้น
ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง ย่านพระโขนง – บางนา ซึ่งเป็นอีก 1 ย่านที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนภาคเอกชน ซึ่งถ้าย้อนกลับไป 10-20 ปี ย่านพระโขนง – บางนา ถือว่าเป็นย่านชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่มีราคาที่พักอาศัยไม่สูงมากนัก แต่จากการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทำให้เมืองเติบโตขยายออกจากพื้นที่ใจกลางเมืองมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนารถไฟฟ้าหลายเส้นทางรวมถึงส่วนต่อขยาย ซึ่งในย่านพระโขนง-บางนา เป็นช่วงสถานีปลายทาง คือ สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ก่อนที่จะมีการขยายต่อไปจนถึงสมุทรปราการในช่วงปีพ.ศ.2561 ทำให้พื้นที่ในย่านนี้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยจาก Developer จำนวนมาก รวมไปถึงเป็นที่ตั้งสำนักงานหลายแห่งทั้งรายใหญ่และรายย่อย อย่างเช่น True Digital Park ซึ่งศักยภาพของ ย่านพระโขนง – บางนา ผู้เขียนได้สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่ ย่านพระโขนง – บางนา มีศักยภาพต่อการเป็นย่านนวัตกรรม