ทำไมกรุงเทพถึงไม่มีทำเลทองที่แท้จริง
คำว่า “Prime Location” หรือ “ทำเลทอง” คืออะไร?
คำว่า “Prime Location” หรือ “ทำเลทอง” นั้นเราจะต้องมานิยามร่วมกันก่อนโดยใช้ตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขที่วัดค่าได้ (measurable) เพื่อให้การพูดคุยประเด็นนี้อยู่บนเวทีเดียวกันก่อน เพราะถ้าหากไม่นิยามร่วมกันก็เท่ากับการพูดคนละมุมมอง แล้วแต่ใครจะคิด
Prime คำนี้ตามความหมายในพจนานุกรมของ Cambridge Dictionary คือ “main or most important” หมายถึง เป็นหลัก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ส่วนคำว่า Location คือ a place or position หมายถึง เป็นสถานที่หรือตำแหน่ง ดังนั้นคำว่า Prime Location หมายถึง “สถานที่ที่สำคัญที่สุด”
จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนคือ Prime Location
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานที่ใดสำคัญที่สุดที่จะสามารถเรียกได้ว่าเป็น Prime Location ได้ เราอาจจะสอบถามความคิดเห็นของผู้คนในเมืองก็ได้ว่า location ใดที่คิดว่าเป็น Prime Location แต่วิธีนี้จะหาฉันทามติร่วมกันได้ยาก
วิธีที่ดีที่สุดที่จะหาคำตอบร่วมกันคือพึ่งพาข้อมูลตัวเลข Data ต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยการวัดมูลค่าของ Location ด้วยการใช้หลากหลายมิติข้อมูล เช่น
– ราคาที่ดินต่อตารางวา
– ราคาค่าเช่าต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงาน พื้นที่พาณิชยกรรม
– ราคาขายต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียม
– ศักยภาพในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ของที่ดินแต่ละแปลงในย่านนั้นว่าสามารถมีศักยภาพสร้างได้สูงสุดแค่ไหน
– การพิจารณาจำนวน traffic ผู้คนที่ผ่านมาเยือนในแต่ละวัน แต่ละเดือนมีเท่าใด
– รายได้ต่อหัวของคนในทำเลนั้นมีกี่กลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีค่าเฉลี่ยเท่าใด
– จำนวนการใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน location นั้น
– อัตราส่วนการใช้สอยพื้นที่แต่ละจุดประสงค์ เพื่อทำงาน ที่พักอาศัย พาณิชยกรรม พื้นที่สีเขียว
– จำนวนทางเลือกการเดินทางที่มีในย่านมากน้อยแค่ไหน
– และอื่นๆ ที่สามารถนับจำนวนออกมาเป็นตัวเลขได้ที่สะท้อนความสำคัญของทำเล
ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถสืบหาได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้มีความซับซ้อนและถ้าต้องการข้อมูลเชิงลึกก็จะไม่ฟรี ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมจะต้องจ้างบริษัทวิจัยรับจ้างเก็บข้อมูลที่ให้บริการครับ เช่น
– รายงานการประเมินค่าทรัพย์สิน (Property Valuation)
– รายงานแจงนับการจราจร (Traffic Count Surveys)
– ราคาประเมินจากกรมธนารักษ์
– จำนวนรายการและมูลค่าของค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ของสำนักงานที่ดินในแต่ละเขต
– ราคาซื้อขายในตลาดจากเว็บไซต์ listing และ marketplace ด้านอสังหาต่างๆ
– การใช้ AI ช่วยนับจำนวนผู้คนจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่
– จำนวนภาษีที่หน่วยงานรัฐเก็บได้จากแหล่งงานในพื้นที่ เป็นต้น
แต่ถ้าหากไม่ได้ประเมินด้วย data ข้างต้น เราก็อาจจะพิจารณาตอบคำถาม checklist เหล่านี้เป็นข้อๆ และให้คะแนนกับทำเลนั้นๆ คำถามเหล่านี้ก็อาจจะพอตอบได้ว่าทำเลนั้นมีแนวโน้มจะเป็นทำเลทองหรือไม่ เช่น
– สภาพอากาศทำเลนั้นดีไม่ดีอย่างไร
– สิ่งแวดล้อม สภาพรอบข้างในย่านเป็นอย่างไร
– มีกิจกรรมอะไรให้ทำในย่านบ้าง
– มีใคร กลุ่มไหน ระดับใดอยู่อาศัยบ้าง
– สะดวกในการเดินทางแค่ไหน
– เศรษฐกิจในย่านคึกคักหรือไม่
– มี public facility พร้อมแค่ไหน
– ที่ดินมีข้อจำกัดในการพัฒนาสร้างโครงการอะไรบ้าง
– บริการจากเอกชนที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่มีอะไรบ้าง
– มีพื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจให้ความบันเทิงอะไรบ้าง
– ศักยภาพการพัฒนาในอนาคตมีอะไรบ้าง
Prime Location ทำเลทอง คือคำที่ไม่มีนิยามตายตัว
คำว่า Prime Location หรือ “ทำเลทอง” ที่เราเห็นบ่อยๆ มักจะเป็นคำที่ใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เป็นเจ้าภาพในการประเมินอย่างจริงจังว่าสถานที่ใดที่จะเรียกได้ว่าเป็น Prime Location อย่างแท้จริง และยังไม่มีกฎหมายมาตราใดที่ให้นิยามคำว่าทำเลทอง เหตุนี้จึงทำให้คำว่า Prime Location, ทำเลทอง จึงเป็นคำที่ใครอยากจะหยิบไปใช้ก็สามารถทำได้โดยไม่ผิด
เมื่อไม่มีการบัญญัติคำว่า Prime Location เอาไว้ คำนี้จึงมักจะใช้เพื่อประโยชน์ทางการตลาดและถูกตีความตามมุมมองการรับรู้ของแต่ละคนที่มองคุณค่าของทำเลต่างกัน เช่น ถ้าถามนายสิทธิชัยซึ่งชีวิตเรียนและทำงานในย่านสาธรมาตลอด ก็อาจจะมองว่าสาธรคือ ทำเลทอง prime ที่สุดสำหรับสิทธิชัย เพราะสะดวก ใกล้ทุกอย่างที่ตนเองต้องการ แต่ถ้าหันกลับถามคุณนาราซึ่งใช้ชีวิตในย่านสุขุมวิทตอนปลายในย่านปุณณวิถีมานาน ก็อาจจะไม่คิดว่าสาธรเป็น prime location นาราคิดว่าสาธรไม่สะดวกเพราะไม่มีมีห้างให้เดินเล่น รถไฟฟ้าก็ไม่มีตลอดแนวถนน นาราคิดว่าทำเลพร้อมพงษ์คือ Prime area ที่สุดสำหรับนารา เรียกได้ว่านานาจิตตัง ใครชอบตรงไหนก็คิดไปตามใจของตน มุมมองการให้ค่าทำเลทองของสิทธิชัยและนาราที่ต่างกันนั้นมีผลมาจากหลายสาเหตุ