การพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งมูลค่าหลายพันล้าน Developer เค้ามองอะไรกันบ้าง?
ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทใด ๆ ก็ตามทั้งในรูปแบบที่อยู่อาศัยแนวราบ อย่างบ้านเดี่ยว บ้านแถว หรือ ที่อยู่อาศัยแนวสูง อย่างอาคารชุด ล้วนมีขั้นตอนกระบวนการหลายขั้นตอนก่อนที่จะได้ผลลัพธ์สุดท้ายมาออกสู่ตลาดเพื่อขายให้แก่พวกเราทุกคน หลายคน ๆ อาจจะเคยสงสัยกันบ้างว่าแล้ว Developer ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท เค้าต้องมองอะไรกันบ้างก่อนที่จะเริ่มพัฒนาโครงการสักโครงการ หรือ มีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร เดียวบทความนี้จะสรุปมาให้ฟังกันว่ามีขั้นตอนอะไรกันบ้าง แต่แอบกระซิบไว้นิดนึงว่าจริง ๆ แล้ว ขั้นตอนที่จะเล่าต่อจากนี้ก็เป็นวิธีทีการที่คนทั่วไปหรือนักลงทุนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ลงทุน หรือ เลือกซื้อที่ดินได้เช่นเดียวกัน
1 Land information
ในขั้นตอนแรกเรื่องของการได้มาซึ่งที่ดิน โดยปกติแต่ละผู้ประกอบการ (Developer) ก็จะมีเทคนิควิธีการหาที่ดินมาจาก Agent หรือ Broker ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท ซึ่งทาง Developer ส่วนใหญ่ก็จะมีทีมเฉพาะที่คอยจัดหาที่ดินมาเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ โดยการจะเลือกว่าจะซื้อที่ดินบริเวณไหนจะต้องผ่านการวิเคราะห์จากข้อมูลข่าวสาร ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ในอนาคตว่าภาครัฐจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใดบ้าง เช่น ถนนตัดใหม่ ทางด่วน หรือ รถไฟฟ้า รวมถึงเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคต เช่น การรักสุขภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ สังคมผู้สูงอายุ เพื่อนำมาใช้ประกอบในการเลือกพื้นที่พัฒนาที่เหมาะสม ซึ่ง Developer บางรายที่มีทุนหนาอาจจะมีการซื้อที่ดินที่มีศักยภาพเก็บไว้ใน Port ของบริษัทก่อนแต่ยังไม่ได้มีการพัฒนาโครงการใดๆ หรือ บาง Developer รู้แล้วว่าจะพัฒนาเป็นโครงการอะไรก็จะเลือกทำเลในบริเวณที่เหมาะกับโครงการนั้นๆ มาพัฒนา
2 Land Survey
เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว แล้วทราบเบื้องต้นแล้วว่าจะพัฒนาเป็นโครงการอะไร ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการ Survey ที่ดินโครงการ และ การเช็คข้อกำหนดทางกฎหมายด้านต่างๆ รวมถึงอาจจะมีการคิด Pre-Feasibility เบื้องต้นด้วย ซึ่งขั้นตอนในช่วงนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากอีกขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่สามารถบอกได้เบื้องต้นเลยว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนรึเปล่า
โดยในส่วนแรกจะเป็นการ Survey ที่ดิน ซึ่งจะเป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมรอบพื้นที่ดินโครงการโดยรอบว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ทิศเหนือ-ใต้ ทิศตะวันตก-ออก ติดกับอะไรบ้าง แต่ละทิศมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ติดอาคารสูง ติดชุมชน วัด โรงเรียน หรือมีการรุกล้ำจากผู้อื่นรึเปล่า รวมถึงลักษณะรูปแบบถนนรอบโครงการเป็นอย่างไร กว้างเท่าไร ติดถนนสาธารณะไหม สามารถทะลุออกไปซอยไหนได้บ้าง มีรถไฟฟ้าสถานีใกล้สุดคืออะไร เป็นต้น
โดยในขั้นตอนนี้นอกจากการสำรวจพื้นที่ดินอย่างละเอียดแล้ว มีอีก 1 ประเด็นที่สำคัญ คือ การเช็คข้อกำหนดด้านกฎหมายด้านต่างๆ ทั้งการเช็คกฎหมายผังเมือง การเช็คผังสีการใช้ประโยชน์ที่ดินว่าพื้นที่ดินในบริเวณนั้นๆ กำหนดให้สร้างอะไรได้บ้าง ห้ามสร้างอะไรบ้าง เช่น พื้นที่กำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยสีเหลือง หรือ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางสีส้ม (ดังภาพด้านล่าง) รวมไปถึงมีการกำหนดค่า FAR (Floor Area Ratio), OSR (Open Space Ratio) เท่าไร
ซึ่งในกฎหมายด้านต่างๆ ก็จะมีข้อกำหนดที่กำหนดเอาไว้ว่าโครงการรูปแบบไหนที่สามารถสร้างได้และแบบไหนสร้างไม่ได้ รวมถึงมีการกำหนดเขตทางหน้าแปลงที่ว่าต้องกว้างไม่น้อยกว่าเท่าไร ซึ่งก่อนการซื้อที่ดินก็จะมีการเช็คเบื้องต้นแล้ว แต่ขั้นตอนนี้จะมีการเช็คในรายละเอียดมากขึ้นว่าโครงการที่จะพัฒนา ไม่ได้ไปขัดกับกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ก่อเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ที่อยู่ในเขตการบินหรือเขตพื้นที่เมืองเก่า ซึ่งจะมีกฎหมายการจำกัดความสูงไว้ ถ้าเกิดไปพัฒนาเกินความสูงที่กำหนดไว้ แล้วมาตรวจสอบพบเจอภายหลังก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาตามมาได้ หรือ บางพื้นที่มีการกำหนดแนวถนนตัดใหม่ในอนาคตถ้ามีการสร้างทับแนวถนน ก็อาจจะต้องเกิดปัญหาการเวนคืนตามมา หรือ การขออนุญาตที่เกี่ยวเนื่องในด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น EIA (Environmental Impact Assessment Division) ก็ต้องมีการยื่นขออนุญาตตามเกณฑ์ที่ EIA ตั้งไว้ ซึ่งข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และผ่านการเช็คข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเพื่อจะทำให้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังจากที่พัฒนาโครงการไปแล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็พบว่ามีอยู่หลายโครงการที่เกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Ashton Asoke, The Line Sathorn หรือ ล่าสุดอย่าง Sathorn 125 เป็นต้น
จากตรงนี้ก็พอจะทราบกันแล้วว่าที่ดินในบริเวณนั้นๆ สามารถพัฒนาอะไรได้บ้าง โดยบางบริษัทก็จะมีการวิเคราะห์ Feasibility เบื้องต้นแบบคร่าวๆ หรือที่เรียกกันว่า Pre-Feasibility เป็นการทำเพื่อให้ทราบว่าโครงการมีความเป็นไปมากน้อยแค่ไหน ต้องมีพื้นที่ขายเท่าไร (Salable area) ก็คือพื้นที่ห้อง พื้นที่บ้าน และ มีพื้นที่ Non-salable area เท่าไร ก็คือพื้นที่ส่วนกลางทั้งสระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวน ทางเดิน เป็นต้น เพื่อเป็นโมเดลตั้งต้นในการพัฒนาในขั้นตอนต่อ ๆ ไป