“กว่าจะมาเป็น Model” บทสัมภาษณ์ Lattanun Model Maker หนึ่งในผู้สร้างโมเดลสถาปัตยกรรมที่ developer หลายเจ้าไว้วางใจ
ทุกครั้งที่เราเดินเข้าไปในสำนักงานขายคอนโดมิเนียมเรามักจะเห็นโมเดลจำลอง แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าโมเดลนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีขั้นตอนการทำอย่างไร กว่ามันจะมาเป็นโมเดลให้เราดูได้นี่ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง
ผู้เขียนก็สงสัยมาตลอดเช่นกันจึงหอบหิ้วชุดคำถามไปสัมภาษณ์คนทำโมเดลคนหนึ่งเพื่อเอามาฝากให้กับแฟนๆ www.Propholic.com กันในวันนี้ครับ คนคนนั้นก็คือคุณเป๊ก จาก Lattanun Model Maker หรือ LMM ซึ่งอยู่ในวงการทำโมเดลนี้มาอย่างยาวนาน
สวัสดีครับคุณเป๊ก อยากให้แนะนำตัวเล็กน้อย และอยากรู้ว่าเรียนจบด้านใด และทำไมถึงมาทำธุรกิจรับสร้างโมเดลหรือ Model Maker ตรงนี้ได้?
สวัสดีครับ ผม ลัทธนันทน์ ภูมิวุฒิสาร (เป๊ก)
เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2552 เริ่มหัดทำโมเดลมาตั้งแต่ตอนเป็นนิสิตเพราะช่วงนั้นอยากมีรายได้ระหว่างเรียนเลยรับจ๊อบและมันเป็นงานที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียนอยู่อีกด้วย ช่วงแรกก็มีรุ่นพี่ชวนไปทำครับ ภายหลังก็เริ่มรับงานเอง และทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนึงมีความรู้สึกว่า การทำโมเดลนั้นเป็น Talent ของตัวเราเอง มีความถนัดและหลงใหลในการทำงานด้านนี้ ก็เลยต่อยอดงานนี้จนมาเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันครับ ทำอาชีพนี้มาประมาณ 13 ปีแล้วครับ
งานโมเดลอันแรกที่ทำแล้วได้เงินคืองานอะไร?
งานแรกที่ทำแล้วได้เงินคืองานทำแมสซิ่งโมเดล (Massing Model)
เป็นงานง่ายๆ ที่ช่วยรุ่นพี่คณะทำงานให้กับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย งานก็จะเป็นการตัดก้อนตึกเล็กๆ จำนวนมหาศาลเพื่อทำการสื่อสารว่าพื้นที่ออกแบบนั้น เหนือใต้ออกตกมีตึกหรือสถานที่สำคัญอะไรบ้าง เป็นงานแรกๆที่มีรายได้และรู้สึกว่าการทำงานพวกนี้สนุกจังเลย
ความสำคัญของการทำโมเดลคืออะไร?
1. เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการออกแบบ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำ Massing Model คือ งานแบบจำลองสถาปัตยกรรมที่ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก เป็นเหมือนแค่รูปทรงอาคารก้อนสีขาวเปล่าๆ จุดประสงค์เพื่อให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงการ เช่น นักลงทุน เจ้าของโครงการ ทีมสถาปนิก ทีมวิศวกร ทีม Landscape วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และฝ่ายอื่นๆ ได้มีสื่อเพื่อทำการพูดคุยให้เข้าใจร่วมกัน
ซึ่ง Massing Model ก็จะสามารถต่อยอดเกิดไอเดียเจ๋งๆ ขึ้นมาระหว่างที่ทำงานร่วมกันได้ เช่น ไม่ต้องทำตึกสี่เหลี่ยมตันๆ ก็ได้นะ แต่อาจจะตัด คว้าน บิด เสริม เพิ่ม ทำให้มีรูปร่างแปลกๆ ทำให้มันเป็นตึกที่เปิดโล่ง เปิดมุมมอง มีความเป็น Iconic หรือบิดหน่อยให้ตอบโจทย์ ให้ดูน่าสนใจ ดูน่าตื่นเต้น เป็นต้น
Massing Model จึงถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการสร้างโครงการขึ้นมาจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ต้องทำให้โครงการเป็นอย่างไรถึงจะได้กำไรหรือบรรลุเป้าหมายของเจ้าของ วางconceptและออกแบบให้สัมพันธ์กับบริบทโดยรอบทั้งภายในและภายนอก ทั้ง path,node,edge,district,landmark etc.
2. โมเดลช่วยให้การสื่อสารเข้าใจง่ายขึ้นหลายเท่า
ต้องเข้าใจความจริงก่อนว่าผู้ที่รับสาร เช่น ทีมงาน ลูกค้า ผู้ขาย ที่เป็นคนรับข้อมูลการนำเสนอสถาปัตยกรรมหรือ Architectural Presentation นั้นอาจจะไม่ได้เข้าใจวิธีคิดแบบสถาปนิก ไม่ใช่นักออกแบบ ไม่ใช่วิศวกรกันทุกคน เพราะฉะนั้นการนำเสนอจะต้องมีของที่เอามาโชว์แล้วเข้าใจง่ายๆได้ทันที ซึ่งโมเดลสามารถตอบโจทย์การสื่อสารแบบนี้ได้
ยกตัวอย่างเช่น คุณลูกค้าบางท่านมีเงินอยากจะสั่งสร้างบ้าน แต่เค้าดูแบบก่อสร้างแล้วก็ไม่เข้าใจ ถ้าจะให้ดูผังพื้น (floor plan) ดูรูปด้าน (elevation) ก็ยังไม่เข้าใจ เพราะนึกภาพจริงไม่ออก แต่ว่าโมเดลนั้นต่อให้ไม่มีพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมดูแล้วก็เข้าใจแน่นอน
แค่ดูโมเดลก็เข้าใจแล้วว่าบ้านเข้าทางนี้ออกทางนั้น ตึกสูงประมาณนี้ มีอะไรอยู่ในตึกบ้าง อันนี้คือ drop – off อันนั้นเป็นห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ เมื่อดูโมเดลเข้าใจก็จะเกิดคำถามหรือไอเดียใหม่ๆ ให้กับดีไซเนอร์นำไปปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
3. โมเดลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องของงานออกแบบ
นอกจากนี้การสั่งทำ model ก็ยังมีประโยชน์เสริมขึ้นมาด้วย นั่นคือมีหน้าที่เอาไว้เช็คข้อมูลทุกด้านว่าสัมพันธ์กันหรือไม่
จากประสบการณ์ที่เคยเจอ มีกรณีที่แบบสถาปัตย์สวยงาม แบบ interior เรียบร้อย แบบวิศวกรรมสมบูรณ์ดี แต่ท้ายสุดแล้วคนทำโมเดลจะตรวจและรู้ว่าข้อมูลทั้ง 3 อันนี้มันไม่ sync กัน ไม่เชื่อมกัน เช่น บางทีอาจจะเกิดปัญหาพบว่าทำไมคานถึงโผล่ตรงกระจก ทาง model maker ก็จะแจ้งกลับไปยังผู้ออกแบบให้ทราบเพื่อแก้ไข ซึ่งปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการได้มีคนช่วยตรวจสอบงานก็เป็นผลประโยชน์หนึ่งที่ได้รับจากการสั่งทำโมเดลครับ
4. โมเดลมีประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนจำนวนมาก
แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี VR (virtual reality) นำเสนอภาพแบบเสมือนสามมิติ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับ device ตัวแว่น VR ที่ใช้ดู ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถทำให้คนหลักสิบหลักร้อยคนเข้าใจร่วมกันพร้อมกันได้ ซึ่งแตกต่างจากโมเดลที่สามารถทำให้คนจำนวนมากเข้าใจตรงกันได้ ดังนั้นโมเดลจึงยังคงเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงคนจำนวนมากได้ดีแบบ 360 องศา เช่น การนำเสนอโมเดลในสำนักงานขาย ในพื้นที่จัดงาน event ลูกค้าและพนักงานขายหลายๆ คนก็สามารถใช้โมเดลสื่อสารกันได้พร้อมกันโดยไม่ต้องรอหยิบใส่แว่น หรือแม้กระทั่งสื่อดิจิทัลก็สามารถใช้โมเดลไปประยุกต์ร่วมได้เช่นกัน
ก่อนที่โมเดลคอนโดจะมาตั้งโชว์ในสำนักงานขายนั้นผ่านกระบวนการขั้นตอนยังไงบ้าง?
1. ประเมินราคาค่าทำโมเดล
เริ่มแรกสุด เมื่อลูกค้าสนใจอยากทำโมเดลก็ต้องให้ลูกค้าส่งไฟล์งานออกแบบและ requirement ต่างๆ กำหนดวันเวลาส่งมอบ บอกความต้องการพิเศษ ฯลฯ ให้กับ model maker เพื่อประเมินราคาก่อนว่าค่าทำโมเดลจะประมาณกี่บาท
ลูกค้าบางท่านจะมีความเข้าใจว่าการทำโมเดลนั้นจะมีราคาตายตัว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง บางคนจะนึกว่าแค่บอกขนาดฐานกว้างคูณยาวแล้วก็น่าจะตีราคาได้นะ แต่จริงๆ ข้อมูลแค่นั้นยังไม่พอกับการตีราคา
ด้วยเหตุผลเพราะว่า เนื้องานมีรายละเอียดและต้นทุนที่ต่างกัน บางงานขนาดฐานใหญ่จริงแต่เป็นตึกสูงแค่ 2 เซนติเมตร หรือบางโมเดลฐานขนาดเท่ากระดาษ A3 (29.7×42ซม.) แต่ว่ารายละเอียดงานจัดหนักมากๆ อย่างหลังจึงมีราคาค่าจ้างที่สูงกว่า
ดังนั้นขนาดฐานจึงไม่สามารถบอกราคาค่าทำโมเดลได้
แต่ต้องส่งไฟล์งานมาให้คำนวณและแจ้งข้อมูลให้มากที่สุดก่อนถึงจะประเมินราคาได้ครับ
2. กำหนดรายละเอียดปลีกย่อย
ลูกค้ากับ model maker จะต้องคุยกันว่าอยากได้โมเดลแบบไหน, เป็นโมเดลสีหรือโมเดลขาวล้วน, ติดไฟหรือไม่ติด, อยากได้ลูกเล่นอะไรพิเศษไหม เช่น มีไฮดรอลิกเลื่อนได้ ตึกขยับได้ รถวิ่งได้ มีไอน้ำไว้เปิดตัวงาน grand opening ไหม, มี effect พิเศษอื่นๆที่ต้องการนำเสนอหรือไม่ เมื่อบรีฟงานทุกอย่างชัดเจนแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการทำสัญญาจ้างงานและวางเงินมัดจำเสร็จ model maker ก็จะเริ่มงาน
3.การตรวจสอบงาน
ระหว่างที่ดำเนินการจัดทำโมเดลกันอยู่
เราก็จะถ่ายรูปรายงานความคืบหน้าเพื่อแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ และเมื่อดำเนินการไปเกิน 50% ก็จะให้ owner เจ้าของโครงการและดีไซเนอร์เข้ามาตรวจงานพร้อมกันว่าถูกต้องหรือไม่
ใช่อย่างที่ต้องการหรือไม่ อยากจะเพิ่มหรือลดอะไรระหว่างนี้ไหม?
4. ตรวจครั้งสุดท้ายและส่งมอบ
เมื่อประกอบโมเดลเสร็จแล้วก็จะเป็นการตรวจ final รอบสุดท้าย ตรวจว่า architecture ถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า, สีของ finishing สีอาคาร สีวงกบ สี facade สี fin สีบานเกล็ด (louver) นั้นถูกต้องไหม
ส่วนของ landscape นั้นถูกต้องหรือเปล่า ติดไฟแบบนี้ไหม และเมื่อไม่มีปัญหาอะไรแล้วก็ส่งมอบงานให้ลูกค้าครับ
ขนส่งโมเดลยังไง ขนย้ายยังไงให้ไม่หักเสียหาย?
ปกติก็ใช้รถยนต์ขนส่ง มีตั้งแต่ 4ล้อไปจนถึงรถ10ล้อเลยครับ
โดยทาง model maker รู้วิธีว่าจะต้องขนส่งยังไงให้ไม่หักเสียหายกลางทาง โมเดลที่สูงมากๆกับโมเดลที่มีฐานมีขนาดใหญ่มากๆ จะมีวิธีการขนส่งที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น
owner บางท่านให้ทีมงานตัวเองมาขน บางครั้งการขนส่งเองก็มีเสียหายบ้าง เพราะว่าคนขนส่งอาจจะไม่รู้ว่าคนทำโมเดลประกอบฐานแบบไหน หรือมีลูกเล่นของโมเดลอะไรอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าสายไฟต่ออย่างไร
คนทำโมเดลเองจะรู้ว่าจะต้องจับหรือถือตรงไหน
เช่น เทคนิควิธีการจับการยกวัสดุต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน วัสดุอะคริลิคจะมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง แต่ถ้าวัสดุอื่นก็ต้องพิจารณาเป็นอันๆ ไป แต่หลักทั่วไปคือ การยกโมเดลจำเป็นต้องยกโมเดลให้ฐานขนานพื้นพร้อมกัน โดยจะไม่ให้มีจุดใดเตี้ยกว่าเลย ถ้าคนนึงยกสูงกว่า แต่อีกคนยกเตี้ยกว่าก็จะเกิดความเสียหาย หักหรือบิดงอได้ครับ
ทาง LMM ก็มีบริการขนส่งโมเดลด้วยครับ ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่เราทำ
แต่สามารถให้บริการขนย้ายโมเดลได้
งานทำโมเดลถือว่าเป็นงาน Craft งานหัตถกรรมหรือเปล่า?
ก็ถือว่าใช่ มันเป็นเหมือนงานช่าง งานฝีมือ บางคนก็อาจจะมองว่าปัจจุบันมันก็เลเซอร์คัทไม่ใช่เหรอ ก็แค่เขียนไฟล์ใส่คอมแล้วเอาเลเซอร์ยิงก็จบแล้ว…แต่ว่า…ไม่มีเครื่องประกอบนะ
สุดท้ายงานทำโมเดลก็ยังต้องใช้คนประกอบร่างอยู่ดี เหมือนต่อโมเดล Gunpla กันดั้ม ต่อโมเดล figure ต่างๆ แต่อันนั้นเป็นงานอดิเรกทำเพลินๆ ว่างก็นั่งทำแต่งานทำโมเดลตึกแบบนี้เป็นแบบ super active ต่อโมเดลกันทั้งวัน อดหลับอดนอนกันเลย (ฮา)
เคยเจอปัญหาในการทำงานอะไรบ้าง?
มีบ้างครับ เช่น
– สั่งงานผิด scale
เคยเจอลูกค้าสั่งโมเดลใหญ่เกินพอดี วางโมเดลแล้วเต็มพื้นที่สำนักงานขาย แม้จะย้ายโมเดลเข้าไปได้แต่แทบไม่มีที่นั่งกันเลย ใหญ่ซะจนคนใน Sale Gallery เดินไม่ได้ กลายเป็นเรื่องฮากันไป นี่ถือว่าแบบไม่ sync ในชีวิตจริง (ฮา)
เพราะตอนจ้างคนสั่งทำโมเดลเป็นคนอีกทีม ส่วนคนออกแบบสำนักงานอีกทีมนึง งานนี้ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการเฉือนฐานทิ้งออกไปบางส่วนครับ
บางงานก็จะมีปัญหาเช่น ลูกค้าเข้าใจว่าโมเดลมันใหญ่แต่จริงๆ มันเล็ก หรือเข้าใจว่าโมเดลมันเล็กแต่จริงๆ มันใหญ่
– file งานที่ได้รับมีความผิดพลาด เช่นรูปด้านกับplanไม่สัมพันธ์กัน
ซึ่งลูกค้าควรต้องตรวจสอบไฟล์ก่อนส่งให้เรา เมื่องานต้นทางออกมาดีและทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบทุกอย่างก็จะราบรื่น แต่ถ้ามีคนทำหน้าที่บกพร่องสักคนนึง งานที่เหลือก็จะล้มกันเป็นโดมิโน ดังนั้นไฟล์แบบ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ส่งมานั้นจึงมีความสำคัญมากๆ
– ปัญหาการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ตรวจงานไม่ละเอียดหรือมองข้ามในส่วนสำคัญที่ต้องบอกแต่ไม่ได้บอก
เมื่อตรวจสอบพบและสั่งแก้ไขหลายรายการตอนใกล้กำหนดส่งจะเกิดปัญหามาก
เนื่องจากงานโมเดลเป็นงานทำมือดังนั้นอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้รวดเร็วทันใจเพราะเป็นงานที่ใช้เวลาสูง ดังนั้นการตรวจสอบที่ดีและสื่อสารกันล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน
ทำแต่ละโมเดลใช้เวลานานไหม และมีโมเดลที่เป็นที่สุดในด้านต่างๆ อันไหนบ้าง
ทำนานแค่ไหน ข้อนี้ตอบทันทีไม่ได้เพราะต้องขอดูไฟล์แบบก่อนถึงจะตอบได้
แต่ถ้าเร็วที่สุดจากสถิติที่เคยทำมาก็คือ
งานต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์แต่เราต้องทำเสร็จภายใน 4 วัน เนื่องจากเป็นงานเร่งแต่กรณีนี้คือเราทำแบบทั้งวี่ทั้งวัน ทำงานแบบ 24 ชั่วโมงติดต่อกัน สลับกะกันไปตลอด จึงเสร็จทันและส่งมอบได้
ส่วนโมเดลที่ยาวที่สุดที่เคยทำมาก็ยาวประมาณ 7 เมตรครับ
งานจิ๋วที่สุดก็มี เป็นบ้านขนาดเท่าฝ่ามือ มีคนมาจ้างทำโมเดลบ้านเพื่อเอาไปถ่ายหนังโฆษณา เพราะเค้ามองว่าจ้างทำโมเดลนั้นต้นทุนถูกกว่าการสร้างภาพ3D ซึ่งเหมาะกับเนื้องานเฉพาะของเค้าที่ต้องการบริหารต้นทุน และเค้ามองว่าบางทีของ man-made มันก็อาจจะราคาถูกกว่าของที่เป็นเทคโนโลยี นี่ก็เป็นไอเดียที่เราเอาโมเดลมาประยุกต์กับแต่ละงานได้เช่นกันครับ
ส่วนงานที่ใช้เวลาทำนานที่สุด เป็นโมเดลของ developer เจ้าหนึ่ง ถือว่าเป็นงานโหดหินยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา เพราะเป็นงานที่ลงรายละเอียดและพิเศษ ซึ่งปกติแล้วโมเดลจะทำจากวัสดุอะคริลิกหรือไม้บัลซ่า
แต่โมเดลของโครงการนี้ทาง owner บอกว่าให้ใช้ไม้สักของจริงทำ โดยนำไม้สักหนาๆ แล้วเอามาไสให้เป็นแผ่นบางๆ เพื่อทำโมเดลโดยเฉพาะ ซึ่งโมเดลนี้ใช้เวลาทำหลายเดือนถือว่ายาวนานที่สุดของสถิติที่ทีมผมเคยทำมา และโมเดลนี้ก็สูงใหญ่มากประมาณ 2.5 เมตร