PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดคอนโดสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold) ในกรุงเทพฯ
PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดคอนโดสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold) ในกรุงเทพฯ
เป็นแบบขายขาด หรือเช่าที่เค้า? ประโยคนี้น่าจะเป็นประโยคที่คุ้นหูสำหรับคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม (41 ปี+-) เวลาที่พาพ่อหรือแม่มาดูทำเลเพื่อทำมาค้าขาย อย่างอาคารพาณิชย์ หรือโครงการโฮมออฟฟิศทันสมัยใจกลางย่านธุรกิจ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนหากถามถึงสิทธิการถือครองอสังหาฯประเภทเช่าระยะยาว ก็ดูจะเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมนิติกรรมเช่าในรูปแบบเซ้ง (การขายสิทธิการเช่า) ที่ในสมัยก่อนมักจะนิยมทำกับอาคารพาณิชย์ทำเลดีๆ หรือไม่ก็จะเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเช่าตรงกับ Landlord ในแบบสัญญาระยะสั้นๆต่อรายปี หรือสามปี แต่จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือนเพื่อเปิดร้านค้าซะเป็นส่วนใหญ่ ในทางกลับกันหากเป็นอสังหาฯประเภทโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นคอนโด หรือบ้าน เชื่อไหมว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่ไม่คุ้นชิน รู้ลึกไปถึงความแตกต่าง รวมไปถึงข้อได้เปรียบ/เสียเปรียบระหว่าง คำว่า กรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) และ สิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold) โดยที่หากดู Market Cap โดยรวมของตลาดคอนโดประเภท Leasehold แล้วก็จะพบว่ามีมูลค่าตลาด และหน่วยการขายที่ค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มคอนโดประเภท Freehold อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกลุ่มคอนโด Leasehold ก็มักจะมีจำนวนจำกัดอยู่แค่ย่าน Super Prime Area ของกรุงเทพฯ โดยอาจมีบางส่วนที่ถูกพัฒนาอยู่ในเมืองตากอากาศชั้นนำอย่างภูเก็ต เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับตลาด Leasehold มากกว่า และยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการถือครองของชาวต่างชาติ ที่มีลิมิตแค่ 49%ของจำนวนยูนิตสำหรับโครงการ Freehold…เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่าตลาดคอนโด Leasehold ของกรุงเทพฯดูจะไม่เป็นที่น่าสนใจของผู้ซื้อชาวไทย และบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ แบบนั้นหรือ? เปล่าเลยเพราะจากข้อมูลสถิติที่เรากำลังจะนำเสนอในบทวิเคราะห์นี้ กลับพบว่ากลุ่มตลาดคอนโด Leasehold ในกรุงเทพฯนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น มีอัตราการขายที่สูงมากขึ้น เช่นเดียวกับ มีราคาขายที่ทำสถิติแพงที่สุดต่อตรม.เหนือกว่าตลาดคอนโด Freehold ในย่านเดียวกันซะอีก!!!
รูปแบบคอนโดประเภท Leasehold นั้นดูจะเป็นเรื่องที่เราเห็นเป็นปกติทั่วไปในเมืองใหญ่ๆทั่วโลกครับ ในหลายๆประเทศ ทั้งใน สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง, จีน และสิงค์โปร์ โดยในบางประเทศที่กล่าวมานั้นตลาดคอนโด Leasehold ครองส่วนแบ่งที่มากกว่า Freehold แบบเห็นได้ชัด ในทางกลับกับตลาดคอนโด Leasehold ในกรุงเทพฯมีจำนวนไม่ถึง 1% จากจำนวนคอนโดทั้งหมดในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองที่มีศักยภาพสูง บริเวณรอบข้างไม่สามารถหาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในขนาดเท่าเทียมกันเพิ่มเติมได้แล้ว เพราะเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นของหน่วยงานราชการ และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยในกรุงเทพฯคอนโด Leasehold ที่ถูกพัฒนาบนที่ดินของเอกชนนั้นยังมีค่อนข้างน้อยอยู่ แม้คำจำกัดความของคำว่า Leasehold นั้นจะดูไม่เป็นปัญหาในการซื้อของคนต่างชาติส่วนใหญ่ แต่คอนโด Leasehold ในเมืองไทยก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการถือครองสิทธิ ที่น้อยกว่าในต่างชาติ (ในต่างชาติจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 99 -999 ปี) และที่สำคัญก็คือมันน้อยจนเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนจากคอนโด Freehold ที่คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมยูนิตนั้นๆ สามารถเป็นเจ้าของได้ตลอดไปไม่มีกำหนดหมดอายุ ไม่มีสัญญาว่าสามารถเป็นเจ้าของได้กี่ปี แต่คนที่เข้ามาซื้อคอนโดแบบ Leasehold ตามกฎหมายไทยจะเป็นเจ้าของได้เพียง 30 ปีเท่านั้น (ในบางโครงการมี option ต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี) โดยหลังจากครบกำหนดตามสัญญา ก็จะต้องคืนกรรมสิทธิ์ของตนเองให้กับเจ้าของที่แท้จริง
ข้อเท็จจริง และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ระหว่างคอนโด Freehold และ Leasehold
มีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่มองว่าการซื้อคอนโด Leasehold นั้นเสียเปรียบคอนโด Freehold ในหลายปัจจัย อาทิ การไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในตัวที่ดินตลอดไปได้ มูลค่าของโครงการที่มักจะน้อยลงเมื่อใกล้หมดสัญญาเช่า และมีโอกาสในการขายต่อที่น้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าเราจะซื้อคอนโด Freehold ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ดินนั้นๆ หรือยูนิตที่เราซื้อนั้นจะเป็นของเราไปตลอด ไม่มีหลักประกันใดๆที่จะรับรองได้ว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 60 ปีแล้ว ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่จะไม่โหวตให้ทำการขายแบบยกอาคาร (En-Bloc Sale) เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่มหาศาลในการปรับปรุงทั้งอาคาร รวมทั้งมีในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะโดนเวนคืน หรือโดนรอนสิทธิการใช้งาน จากหน่วยงานรัฐบาล ผู้ปกครองหลายๆคนอาจจะกังวลแทนลูกตัวเองว่าหากซื้อคอนโด Leasehold ไป ในอนาคตก็อาจจะไม่ได้ส่งต่อให้กับลูกหลานตัวเอง เนื่องจากหมดสัญญาเช่าไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครรู้อนาคตหรอกว่า เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 60 ปีลูกหลานเรานั้นจะยังคงอยากที่จะอยู่ที่คอนโดนั้นๆต่อไปหรือไม่?
นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วโครงการคอนโด Leasehold ในหลายทำเลก็มีมูลค่าโครงการ มีราคาขาย ที่มากกว่าโครงการ Freehold บนทำเลเดียวกันด้วยซ้ำ จากการที่ดีเวลลอปเปอร์มีการใส่มูลค่าเพิ่มเติม ที่จับต้องได้ในเชิง Brand Value และเชิงบริการ ที่มักจะเป็นรูปแบบ Branded Residences เพื่อดึงดูดผู้ซื้อชาวต่างชาติ และผู้มีกำลังซื้อสูงชาวไทย ที่ต้องการประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใครให้สนใจเข้ามาซื้อโครงการ เราจึงเห็นโครงการ Leasehold หลายแห่ง ที่สามารถทำกำไรจากการขายต่อได้ ยกเว้นแต่ว่าโครงการนั้นๆจะมีสัญญาเช่าเหลืออยู่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งผู้ที่ซื้อต่อมักจะมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปล่อยเช่า แม้ว่าอัตราการทำกำไรจากการปล่อยเช่านั้น (Rental Yield) จะมีมากกว่าคอนโด Freehold ที่อยู่ในย่านใกล้เคียง เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า นอกจากนี้คอนโด Leasehold เกือบทุกแห่งมักจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างต่อตรม.สูงกว่า เลือกใช้วัสดุที่ทนทานกว่าคอนโด Freehold ที่มีระยะเวลาในการรับประกันที่น้อยกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องวุ่นวายกับระบบ After Sale แจ้งซ่อม ฯลฯ เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารยังเป็นของตัวเจ้าของโครงการที่ต้องมีหน้าที่ดูแลไปตลอดอายุสัญญา
แต่มีสามสิ่งที่เป็นข้อเสียเปรียบชัดเจนของคอนโด Leasehold ก็คือ ข้อจำกัดในการใช้งาน ที่เราไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากมายได้ เพราะเมื่อหมดสัญญาเราก็ต้องส่งคืนในสภาพเดิม หรือตามที่สัญญาระบุไว้, จำนวนวงเงินในการขอกู้ที่ธนาคารส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ประมาณ 70 – 80% รวมไปถึงระยะเวลาในการผ่อนที่มีน้อยกว่า และสุดท้ายก็คือผลตอบแทนที่ได้รับจาก Value of Appreciation น้อยกว่าคอนโด Freehold ที่มีอายุเท่ากัน ในทำเลเดียวกัน
LEASEHOLD vs FREEHOLD
ที่ดินแบบไหน ของใครที่มักจะถูกพัฒนาเป็นโครงการ Leasehold
โครงการคอนโดมิเนียมรูปแบบ Leasehold นี้ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะราคาขายที่ต่ำกว่าโครงการคอนโดมิเนียมแบบทั่วไปบนทำเลเดียวกันประมาณ 30% และส่วนใหญ่มักจะอยู่ในทำเลดี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาโครงการ Leasehold คือ เรื่องของกรรมสิทธิ์บนที่ดินที่พัฒนาโครงการ ถ้าเป็นที่ดินทั่วไปที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลทั่วไปก็จะเป็นการซื้อขายที่ดินกันแบบทั่วไป และนำมาพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมแบบทั่วไปที่ขายแบบกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) ไปเลย แต่ถ้าที่ดินแปลงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานราชการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา หรือเอกชนบางรายที่ไม่ต้องการขายที่ดินก็จำเป็นต้องเช่าในระยะยาว ซึ่งตามกฎหมายจะอยู่ที่สูงสุด 30 ปี (เบื้องต้นตามสัญญาแรก) และโครงการประเภทใดก็ตามที่พัฒนาบนที่ดินเหล่านี้จะต้องขายแบบสิทธิการเช่าระยะยาว 30 ปีตามสัญญาเช่าที่ดินด้วยเช่นกัน ดังนั้น โครงการที่อยู่บนที่ดินเช่ารูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาเป็นโครงการอาคารสำนักงาน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ ศูนย์การค้า หรือโครงการพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้ขายกรรมสิทธิ์บนที่ดินออกไป โดยหากเป็นทำเลพิเศษที่มีศักยภาพสูงมาก และมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างเช่น หลังสวน ราชดำริ วิทยุ ที่ราคาที่ดินมีราคาสูงขึ้นและหายากขึ้น ตัวเลือกในการพัฒนาเป็นโครงการคอนโด Leasehold ก็ยังคงได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อ จากราคาขายเฉลี่ยที่ถูกกว่าคอนโดเกรดเดียวกันในทำเลเดียวกัน ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำกำไรจากการปล่อยเช่าที่มากกว่า
ที่ดินที่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวในกรุงเทพมหานครมีไม่มากเมื่อเทียบกับที่ดินแบบกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าที่ดินที่เป็นของหน่วยงานราชการ เช่น กรมธนารักษ์ กระทรวงต่างๆ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เช่น สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดินในกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานที่กล่าวไปแล้วไม่สามารถขายออกไปได้ การนำไปให้คนอื่นพัฒนาจึงต้องเป็นการเช่าแบบระยะยาว หรือเอกชนบางรายที่ไม่ต้องการขายที่ดินก็จำเป็นต้องปล่อยเช่าต่อในระยะยาว
โครงการ “One City Centre” (OCC) อาคารสำนักงานเกรดเอให้เช่า บนทำเลศักยภาพใจกลางเมืองบนถนนเพลินจิต เป็นโครงการที่พัฒนาบนที่ดิน Leasehold เอกชน (กลุ่มธนิยะ) โดยบริษัท ไรมอน แลนด์ ที่จับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่ Mitsubishi Estate จากญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 8.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างมูลค่า 5.5 พันล้านบาท และเช่าที่ดินมูลค่า 3.3 พันล้านบาท คาดสร้างเสร็จไตรมาส 4/65
ซึ่งพื้นที่ที่มีที่ดินรูปแบบนี้ต่อเนื่องกันกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดคือ พื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ต่อเนื่องกับที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเริ่มจากถนนบรรทัดทองต่อเนื่องไปถึงถนนรัชดาภิเษก ก่อนหน้านี้มีเอกชนบางรายขอเช่าที่ดินขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ อีกทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็มีการพัฒนาโครงการรูปแบบต่างๆ บนที่ดินของตนเอง ซึ่งรวมทั้งโครงการคอนโดมิเนียมที่ขายแบบสิทธิการเช่าระยะยาว ดังนั้น โครงการคอนโดมิเนียมที่ขายแบบสิทธิ์การเช่าระยะยาวในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่นี้
โครงการ Samyan Smart City เป็นแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน มีการแบ่งเฟสการพัฒนาเป็นหลายรูปแบบการใช้งาน หลายโครงการ (รวมโครงการสามย่านมิตรทาวน์ เข้าไปด้วย) จำนวนทั้งสิ้น 1,153 ไร่ ถูกจำแนกการใช้ประโยชน์หลัก 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ และพื้นที่ส่วนราชการ 184 ไร่
โครงการพัฒนา BLOCK 33 โดย PMCU เป็นโครงการในรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส ที่เป็น Leasehold โครงการล่าสุด ใน Samyan Smart City ภายใต้แนวคิด “Residential & Wellness” โดยเป็นโครงการที่อยู่อาศัยติดอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองขนาดใหญ่ พร้อมด้วยศูนย์รวมการแพทย์ชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Centre & Medical Hub) เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนใจกลางกรุงเทพ