พฤกษารังสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ เนรมิตสวนบำบัด เพิ่มความสุข ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 เสริมคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างสมดุล
พฤกษา ผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับลูกบ้านด้วยนวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัย ล่าสุดร่วมกับ ผศ.ดร.ธนาศรี สัมพันธารักษ์ เพ็ชรยิ้ม หัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างสวนบำบัดกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 7 ส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ในโครงการต้นแบบแห่งแรกที่ “เดอะปาล์ม” เพื่อผู้อยู่อาศัย ใช้ชีวิตอย่างสมดุล
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “รูปแบบการใช้ชีวิตผู้คนปัจจุบันมีกิจกรรมมากมาย ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในตัวอาคารทำให้ใช้เวลาออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอกน้อยลง ยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดซึ่งมีข้อจำกัดในการออกจากบ้าน ก็ยิ่งสะสมความเครียดและเหนื่อยล้าให้กับร่างกายและจิตใจ
ที่พฤกษาเราให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับลูกบ้านด้วยนวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัย จะดีแค่ไหนถ้า เพียงแค่เดินจากบ้านไปไม่ไกลก็ได้สัมผัสกับพื้นที่ธรรมชาติที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอย่างง่าย ๆ ได้ทุกวัน เพราะพื้นที่ส่วนกลางเป็นที่ที่ทุกคนสามารถมาใช้งานร่วมกันได้ พฤกษาจึงใส่ใจและให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้เพื่อให้ลูกบ้านใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีความสุข และวันนี้พฤกษาจึงก้าวไปอีกขั้นด้วยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญออกแบบจัดสวนในโครงการที่จะมาทำหน้าที่ช่วยบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ที่เข้าไปใช้งานได้อีกระดับหนึ่งด้วยสวนบำบัดกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 7 (7 Senses Therapeutic Garden) ในโครงการ “เดอะปาล์ม”
นางสาวอังคณา ลิขิตจรรยากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดองค์กรกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “วันนี้ที่พฤกษา….สวนไม่ได้เป็นแค่ความร่มรื่น แต่แฝงไว้ด้วยการสร้างเสริมให้ผู้อยู่อาศัย ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสมดุล การใช้ธรรมชาติบำบัด และการที่ประสาทสัมผัสทั้ง 7 ได้รับการกระตุ้น จะส่งผลต่อการส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี สำหรับสวนบำบัดที่โครงการเดอะปาล์ม ออกแบบโดยมีเป้าหมายให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับธรรมชาติเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 7 ที่ประกอบด้วย 1.การมองเห็น 2.การได้ยิน 3.การรับกลิ่น 4.การรับรส 5.การสัมผัส 6.การรับรู้การเคลื่อนไหวการทรงตัว และ 7. การรู้ระยะตำแหน่งท่าทางในพื้นที่ ความหลากหลายที่ผู้เข้าไปใช้งานจะได้สัมผัสไม่ว่าจะเป็นสีและกลิ่นของใบไม้และดอกไม้ที่แตกต่างกัน สัมผัสของก้อนหินหรือการได้เดินบนทางเดินกรวด จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสเหล่านี้ เพราะจากงานวิจัยพบว่า เพียงแค่มนุษย์ได้มองพื้นที่สีเขียวก็ทำให้เกิดความรู้สึกดีขึ้นแล้ว และเมื่อประสาทสัมผัสได้รับการกระตุ้น ระบบสื่อประสาทต่างๆ ก็จะได้รับการกระตุ้นไปพร้อมกัน ทำให้ร่างกายของเราทำงานได้ดีขึ้นด้วย”