บอกลา 3 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการนอน สู่การพักผ่อนที่มีคุณภาพ
การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและชะลอความเสื่อมของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับการนอนที่เพิ่มขึ้น โดยผลศึกษาระดับโลกจาก IKEA Life at Home เผยว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามจัดอันดับให้การนอนเป็นกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นที่บ้านที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขามากที่สุด แต่ในทางกลับกัน ผลศึกษานี้ยังเผยว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มผู้ใหญ่จำนวนมากถึง 1 ใน 2 คน ที่รู้สึกไม่พึงพอใจกับคุณภาพการนอนของตัวเอง โดยการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับสถิติจากกรมสุขภาพจิตที่ระบุว่า คนไทยกว่า 40% โดยเฉพาะ ‘กลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน’ กำลังประสบปัญหาการนอนไม่หลับเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ อิเกีย ประเทศไทย จึงมุ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการนอนอย่างมีคุณภาพ พร้อมจับมือกับ พญ. วิรัลพัชร ศาสตร์ยังกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก (โรคทั่วไปและเชี่ยวชาญจมูกและภูมิแพ้) ประจำโรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มาตอบทุกข้อสงสัย รวมถึงให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการนอน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีจากการนอนหลับเต็มอิ่ม และพร้อมเริ่มต้นวันใหม่อย่างสดใสและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
บอกลาความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการนอน
การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพคือการหลับลึก หลับสนิท เป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ต่อคืน ไม่ตื่นกลางดึกระหว่างหลับ เพื่อให้สมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีหลายความเชื่อที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอน โดยพญ. วิรัลพัชร ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอนหลับ รวมถึงคำแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมการนอนหลับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
– การออกกำลังกายหนักก่อนนอนจะช่วยให้หลับสนิท เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด โดยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ก่อนนอน เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจนไปกระตุ้นสมองและทำให้นอนไม่หลับ หากต้องการออกกำลังกาย ควรทำห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง
– การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนจะช่วยให้หลับสบาย เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงการทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการรบกวนการนอนหลับ
– การนอนกรนไม่เป็นอันตราย เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอาการกรน เกิดจากเสียงที่ผ่านทางเดินหายใจแคบ ๆ ลมผ่านเนื้อเยื่อบริเวณคอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ เกิดการสั่น อาจร่วมกับอาการภูมิแพ้ ผนังข้างจมูกบวม ผนังกั้นจมูกคด หรือริดสีดวงจมูก จนทำให้หายใจทางจมูกลำบาก จึงมีการหายใจทางปาก โดยเสียงกรนจะดังมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพราะช่องคอในคนสูงอายุจะหย่อนมากกว่า หรือคนอ้วนที่มีไขมันพอกคอ ช่องคอจะแคบ และถ้าแคบมาก อาจจะเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนขณะนอนหลับ หัวใจและสมองทำงานหนัก ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ซึ่งเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ และหากมีการนอนกรน ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการตรวจวินิจฉัยว่ามีโรคอื่น ๆ แอบแฝงหรือไม่