บริษัทต่างๆ ยังปรับกลยุทธ์การใช้ออฟฟิศต่อเนื่องหลังโควิด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าของกรุงเทพฯ ในหลากหลายมิติ
หลังวิกฤติการณ์โควิดคลี่คลาย บริษัทต่างๆ กำลังพิจารณาทบทวนออฟฟิศของตน รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะจูงใจให้พนักงานกลับมาเข้ามาทำงาน หลายบริษัทปรับขนาดออฟฟิศให้เล็กลงโดยใช้พื้นที่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่มีบริษัทอีกจำนวนมากที่อัพเกรดออฟฟิศของตน และลงทุนมากขึ้นในการสร้างออฟฟิศให้รองรับวิถีใหม่ของการทำงาน การมีสุขภาวะที่ดีของพนักงาน และเป้าหมายของบริษัทในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งหมดนี้ คือแนวโน้มสำคัญที่กำลังขยายตัวในตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ ตามการวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล
ไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “การเปลี่ยนไปใช้นโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่ออฟฟิศสลับกับการทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่อื่น เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับสถานที่ทำงาน วิถีใหม่ของการทำงานที่เน้นการให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงาน ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ออฟฟิศขนาดเท่ากับที่เคยใช้ในช่วงก่อนเกิดโควิด อย่างไรก็ดี เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า บริษัทต่างๆ จะยังคงจำเป็นต้องมีออฟฟิศ ซึ่งจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสถานที่ที่พนักงานสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการยึดถือค่านิยมองค์กร สร้างเสริมกำลังใจ เพิ่มประสิทธิผลการทำงาน และเติบโตอย่างยั่งยืน”
ผลการสำรวจความคิดเห็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีชื่อว่า Future of Work Survey ของเจแอลแอล เผยให้เห็นว่า 72% ของตัวแทนที่ดูแลด้านสถานประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่ร่วมทำแบบสำรวจครั้งนี้ เชื่อว่า ออฟฟิศจะยังคงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การสำรวจดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการหาวิธีที่จะทำให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดี รักษาระดับประสิทธิผล ควบคู่ไปกับการใช้ออฟฟิศเป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศน์ของการทำงาน
74% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า องค์กรของตนมีแนวโน้มที่จ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้นสำหรับการมีออฟฟิศในอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียว โดยในกรณีของกรุงเทพฯ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน เจแอลแอลพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของธุรกรรมการเช่าออฟฟิศที่เกิดขึ้นใหม่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ เป็นการเช่าพื้นที่ในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว
นอกจากนี้ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 80% ของบริษัทต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับพื้นที่เช่าที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากสามารถรองรับสถานที่ทำงานที่ต้องการได้ดีกว่า เอื้อให้พนักงานเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี รวมไปจนถึงการทำให้องค์กรมีโอกาสในการได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่ายยิ่งขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นกับความต้องการในการเช่า-ใช้พื้นที่สำนักงาน
บริษัทปรับขนาดออฟฟิศให้เหมาะสม
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โรคระบาด มีบริษัทจำนวนมากที่พยายามประเมินว่า ควรใช้พื้นที่ออฟฟิศขนาดเท่าใดที่จะเหมาะสมกับธุรกิจของตน โดยในหลายๆ กรณี เป็นการตัดสินใจลดขนาดพื้นที่ลง ทั้งนี้ เหตุผลที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับการปรับขนาดของออฟฟิศ คือการลดต้นทุนด้านสถานประกอบการลงให้ได้มากที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับวิถีใหม่ของการทำงาน
นายธนานันต์ เรืองวีรวิชญ์ หัวหน้าแผนกบริการตัวแทนเช่า/ให้เช่าพื้นที่สำนักงาน เจแอลแอล กล่าวว่า “ในทศวรรษก่อนหน้านี้ บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราความหนาแน่นเฉลี่ยที่เหมาะสำหรับออฟฟิศ คือ พื้นที่ 10 ตารางเมตรต่อพนักงาน 1 คน แต่ในปัจจุบัน บริษัทผู้เช่าส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ออฟฟิศต่อจำนวนพนักงาน 1 คนลดลงจากเดิม”
“ในความเป็นจริงคือ บริษัทต่างๆ มีความจำเป็นในการใช้พื้นที่ออฟฟิศไม่เท่ากัน ดังนั้น แต่ละบริษัทจึงต้องกำหนดกลยุทธ์เฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของตน โดยบางบริษัทอาจยังต้องการใช้พื้นที่ขนาดเท่าเดิม ในขณะที่บางบริษัทอาจต้องการใช้พื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม”
ทั้งนี้ หลายบริษัทออกแบบพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมการทำงานของพนักงานที่อาจต้องการใช้พื้นที่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของวัน ทำให้สามารถลดหรือเลิกการให้พนักงานมีที่นั่งประจำ และเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ประชุมหรือทำงานกลุ่ม พื้นที่สำหรับการสังสรรค์พูดคุย พื้นที่สำหรับการทำงานที่ต้องใช้ความเป็นส่วนตัวหรือสมาธิ (เช่น โฟนบูธ และห้องประชุม 2 ที่นั่ง) ห้องคุณแม่ หรือห้องพักงีบ/ทำสมาธิ เป็นต้น