THE SUBPRIME CRISIS นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองวิกฤตซับไพรม์แตกต่างจากนักวิเคราะห์ทั่วไปอย่างไร
วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เป็นปัญหาเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาจากการกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่ด้อยคุณภาพ มีความเสี่ยงสูง ระดับหนี้สินของบริษัทและหนี้ของบุคคลสูงเกินไป
Dan Ariely (แดน อารีลีย์) เป็นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ผู้เขียนหนังสือเรื่อง พฤติกรรมพยากรณ์ (Predictably Irrational) เขาออกมาพูดถึงวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาตามมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
Dan มองว่าช่วงจังหวะที่ตลาดซื้อขายบ้านกำลังคึกคักและเป็นที่หมายตาของคนทั้งหลายนั้น นายธนาคารผู้ซึ่งปล่อยสินเชื่อย่อมไม่คิดว่าลูกค้าของเขาจะอยากปล่อยให้บ้านของตนหลุดจำนอง และทุกคนก็คงต้องหาวิธีทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นแน่ๆ สมมติฐานข้างต้นนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แน่นอน ไม่มีใครอยากปล่อยให้บ้านของตนเองหลุดจำนอง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้ สมมติฐานในครึ่งหลังจึงผิดมหันต์ เพราะปัญหาที่พบโดยทั่วไป คือ มันยากมากที่จะคำนวณว่าแค่ไหนถึงเป็นวงเงินที่เหมาะสมที่สุดในการกู้ยืม ลองยกตัวอย่างเล่นๆ หากคุณต้องการจะซื้อบ้านทันทีตอนนี้ คุณจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่และคิดเป็นส่วนที่จะต้องกู้ยืมจำนวนเท่าไหร่?
ยิ่งไปกว่านั้น นายธนาคารหัวแหลมทั้งหลายยังได้แนะนำให้ผู้คนได้รู้จักกับ เงินกู้แบบจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (Interest Only Mortgage) ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปการกู้ยืมประเภทนี้คือสิ่งมหัศจรรย์ที่มอบความยืดหยุ่นแก่ผู้กู้ เมื่อการกู้ยืมนี้เริ่มเป็นที่นิยม Dan ผู้ซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่ Federal Reserve Bank หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาในบอสตันในขณะนั้นก็ได้มีข้อถกเถียงกับนักเศรษฐศาสตร์ท้องถิ่น เขายอมรับว่าเงินกู้แบบจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย (Interest Only Mortgage) ถือเป็นไอเดียที่ดี เพราะมันมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้กู้ได้มากขึ้น ทำให้คนสามารถเลือกชำระเฉพาะแค่ดอกเบี้ยในช่วงปีแรกๆ และนำเงินส่วนที่เหลือไปจัดการค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต หรือค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และแน่นอนที่ผู้กู้ยังคงต้องกลับมาชำระเงินต้นอยู่ดี แต่ในมุมมองของเขาการผ่อนชำระเงินประเภทนี้ถือเป็นวิธีการในฝันถ้าการใช้จ่ายต่างๆ ของผู้คนเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลอย่างแท้จริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย