การปรับตัวและอี-คอมเมิร์ซ ปัจจัยรอดค้าปลีกครึ่งหลังปี 63
ครึ่งแรกของปี 2563 นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดช่วงหนึ่งของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในรอบทศวรรษ ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ร้านค้าและเจ้าของโครงการค้าปลีกจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัวและอาศัยช่องทางการค้าผ่านตลาดอี-คอมเมิร์ซเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้
การแพร่ระบาดของโควิด–19ในไทยและมาตรการต่างๆ ที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “สิ่งที่เราได้เห็นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกคนต่างไม่ได้คาดคิด ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามสภาพตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้น ร้านค้าปลีกในยุคโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงเพื่อรับมือกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ลดน้อยลงอย่างมาก แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการช็อปปิ้งแบบใหม่ของลูกค้า”
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดัชนีค้าปลีกในเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 34.01% ต่อปี เหตุผลหลักมาจากยอดขายรถยนต์และเชื้อเพลิงที่ลดลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 มาอยู่ที่ระดับ 47.2 ในเดือนเมษายน 2563 แต่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนกรกฏาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวกลับมาอยู่ที่ 50.1 ในขณะที่การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (Same-Store-Sales Growth – SSSG) ในไตรมาสที่สองของปีนี้ยังไม่มีการประกาศออกมา แต่คาดว่าจะเห็นตัวเลขติดลบจากทั้งธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ตลอดทั้งไตรมาส
ที่มา: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรกฏาคม 2563