[1st Impression] Supalai Icon Sathorn โครงการ Luxury Mixed Use พร้อมอยู่ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของศุภาลัย
นับตั้งแต่ที่ศุภาลัยเป็นผู้ชนะการประมูลที่ดินสุด Prime ในย่านสาทร ที่เคยเป็นของสถานฑูตออสเตรเลียในอดีต มาด้วยเม็ดเงินที่เป็นสถิติของบริษัทถึง 1.45 ล้านบาท ต่อตารางวา ด้วยการทุ่มเงินสดในการโอนเร็วสุดกว่า 4,600 ลบ.เพื่อปิดดีลนี้ก่อนใคร หลายคนจึงล้วนแต่จับตามองว่าศุภาลัยจะพัฒนาโครงการบนที่ดิน 7-3-82 ไร่นี้ออกมาอย่างไร เพื่อให้สมกับการที่ได้ครอบครองที่ดินระดับตำนาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของงานสถาปัตยกรรมที่ได้ชื่อว่าสวยงามเป็นอันดับต้นๆของกรุงเทพฯ และโครงการใหม่บนที่ดินผืนนี้จะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของที่ดินแปลงนี้ได้ดีขนาดไหน…จากวันที่เริ่มก่อสร้างโครงการมาจนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมาเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม ในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะได้อวดโฉมให้คนทั่วไปได้สัมผัสถึงความสมบูรณ์แบบของคอนโดระดับ Luxury มูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่มีทั้งคอนโดมิเนียมระดับลักซ์ชัวรี่ สำนักงานเกรด A ร้านค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันโครงการแรกของบริษัทฯ อย่าง Supalai Icon Sathorn ที่อัตลักษณ์ของความเป็นทวีปออสเตรเลียทั้งทวีปถูกถอดรหัส และถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างตรงตัวที่สุดตามแบบฉบับของศุภาลัย ผ่านองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่มีอยู่ให้เห็นทั่วทั้งโครงการครับ
“ที่นี่ผมเป็น CDO Chief Design Officer เหมือนกับสตีฟ จ็อบส์ แม้ว่าเราจะ Outsource เรื่องงานออกแบบภายใน Landscape และ Lighting แต่ผมก็ดูเรื่องงานดีไซน์ ก่อสร้าง งานระบบทั้งหมด อีกทั้งผู้บริหารของ DWP ที่ดูงานตกแต่งภายในเค้าก็เป็นคนออสเตรเลีย และก็มี Passion ในการทำงานมาก ซึ่งงานออกมาผมก็พอใจมากๆเช่นกัน นับว่าเป็นงานที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด สำหรับงานประติมากรรมจิงโจ้ สื่อถึงสัตว์ประจำประเทศของออสเตรเลีย เหมือนกับสิงโตของอังกฤษ มังกรของจีน และช้างไทย ซึ่งเราบรรจงเนรมิตชิ้นนี้ออกมาโดยผมเป็นผู้ออกแบบองค์ประกอบประติมากรรมทั้งหมด โดยให้คนที่จบจากศิลปากรมาปั้น ซึ่งตัวผมเองไปออสเตรเลียมาหลายครั้ง ผมก็ไม่เคยเห็นงานจิงโจ้ 5 ตัวบนลีลาที่แตกต่าง เป็นหมู่คณะ ตามเจตนารมณ์การสร้างประติมากรรมหมู่ที่สื่อถึงความสมัครสมานกลมเกลียวในแบบนี้มาก่อน ตัวนี้มูลค่ารวมถึง 4 ล้านกว่าบาท! เช่นเดียวกับรูปปั้นหมีโคอาล่าเรืองแสงที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลกแล้ว ลายของพื้น Deck Pool ที่สระว่ายน้ำก็เป็นลวดลาย อะบอริจิน Pattern ที่เน้นรูปกราฟิค นี่คือเรื่องเล็กๆที่เราภูมิใจเสนอเพื่อให้แตกต่าง พวกนี้คือความแตกต่างที่ช่วยสร้างคุณค่า ความประทับใจตามแบบฉบับศุภาลัย…” ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
เนื่องจาก Supalai Icon Sathorn เป็นโครงการ Luxury Mixed Use ที่ผสมรูปแบบการใช้งานระหว่างที่อยู่อาศัย พื้นที่รีเทล เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และอาคารสำนักงาน จึงนับว่าเป็นคู่แข่ง และตัวเลือกโดยอ้อม ในราคาที่ Competitive กว่า สำหรับอีกหลายโครงการ Mega Projects ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนถนนพระรามสี่ ทั้งจาก ONE Bangkok โครงการ Dusit Central Park ที่อยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่นัก รวมไปถึงสารพัดโครงการคอนโดใหม่อื่นๆที่ตั้งอยู่บนถนนพระรามสี่ และสาทร จากโจทย์ที่ค่อนข้างหินดังกล่าวทางศุภาลัย จึงเลือกใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการแบบ Collaboration ที่เราไม่ค่อยจะเห็นมากนักสำหรับโครงการศุภาลัย เพื่อสร้างความแตกต่างและ Competitive Advantages ให้มากขึ้น โดยนี่คือโครงการแรกของ Supalai ที่ใช้พาร์ทเนอร์มาร่วมพัฒนาถึง 3 ราย ถึงแม้ว่าทางศุภาลัยจะออกแบบตัวอาคารเอง แต่ก็ได้ทีม Landscape อย่าง Beaumont ทีม Interior จาก DWP และยังมีทีม Lighting จาก Lightbox อีกด้วย ทำให้ภาพรวมของตัว product ฉีกความเป็นศุภาลัยออกไปจากภาพจำเดิมๆ รวมทั้งยังก้าวข้ามผ่านมาตรฐานของสเปคห้องแบบศุภาลัยที่เคยทำมาในอดีต อาทิ การใช้วัสดุที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคาร และยังแข็งแรง ปลอดภัย ป้องกันเสียง กับการใช้ กระจกแบบ Double Glazing พื้นส่วน Living Area ที่ปูด้วยกระเบื้อง Cotto Italia การควบคุมอุณหภูมิห้องด้วยเครื่องปรับอากาศระบบความเย็นอัจฉริยะแบบ Cassette Type ระบบ VRV ที่ช่วยประหยัดพลังงานมากกว่าเครื่องปรับอากาศทั่วไป การออกแบบ Smart Kitchen จากแบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลกอาทิ kuppersbusch ที่ดีไซน์ชุดครัวที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานด้วยเทคโนโลยี และวัสดุที่ทันสมัย หรูหราไปกับนวัตกรรมขั้นสูง และติดตั้งระบบ Home Automation ภายในห้องพักที่สามารถรองรับการใช้งานผ่านทาง Smartphone เป็นต้น
ตัวโครงการเป็นโครงการ Mixed Use ที่มีอาคารพาณิชยกรรมอยู่ด้านหน้าติดทางเข้าขนาดประมาณ 24,063 ตารางเมตร จำนวน 14 ชั้น ภายใต้แนวคิด “Connect Every Moment to Success ส่วนอาคารที่พักอาศัยอยู่ด้านในถัดจากอาคารพาณิชยกรรมเข้าไป โดยอาคารพาณิชยกรรมด้านหน้าที่ชั้น 14 จะเท่ากับอาคารที่พักอาศัยชั้น 19 แม้ตัวอาคารทั้งสองอยู่ติดกัน แต่แยกระบบการใช้งานรวมทั้งลิฟท์ สามารถเชื่อมถึงกันได้แค่ที่ชั้น 1 เท่านั้น โดยพื้นที่ทางเข้าหลักจะใช้ร่วมกัน และไปแยกที่บริเวณลานจอดรถด้านใน ซึ่งภายในอาคารส่วน Commercial จะมีโถง Vertical Sky-light Atrium สูง 60 เมตร เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่โล่ง โปร่ง แตกต่างจากอาคารสำนักงานทั่วไป