เปิด 5 ปัจจัย เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค 5 เจนเนอเรชั่น
กูรูด้านการตลาด เปิด 5 ปัจจัยที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค 5 เจนเนอเรชั่น ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย การใช้ชีวิต ที่ผู้ประกอบการต้องนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการที่มีหลากหลายมิติของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น
จากเวทีสัมมนา ASEAN FORUM 2025 ในหัวข้อเรื่อง “The New Consumers of Asean จัดโดยสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thai Management Association หรือ TMA) ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกูรูด้านการตลาดในระดับภูมิภาค มาร่วมแสดงความคิดเห็น เริ่มต้นด้วยนายซามีร์ ฮาซิจา (Mr. Sameer Hasija) คณบดีหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูง และคณบดีแคมปัสเอเชีย สถาบัน INSEAD กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาในปัจจุบันให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ว่า “INSEAD เป็นสถาบันการเรียนรู้ธุรกิจเพื่อพัฒนาการศึกษาของยุโรป ปัจจุบันได้มีการขยายแคมปัสไปทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และอาเซียน จากการศึกษาของเราพบว่า การศึกษาในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีและทัศนคติในการเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน โดยปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น แต่การทำงานร่วมกับ AI จำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานที่ทำ ต้องใช้อย่างฉลาด ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำงาน และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในทุกเจเนอเรชั่นในปัจจุบัน” นายฮาซิจา กล่าว
นางสาวจิรภัทร์ กาญจนโอสถ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท สปา ฮาคูโฮโด ประเทศไทย กล่าวว่า 5 ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกเจนเนอเรชั่น มาจาก
1. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอน
2. การให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตและคุณค่าของการใช้ชีวิต
3. รูปแบบการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
4. การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยที่ดีและสิ่งแวดล้อม
5. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและดิจิทัล
จาก 5 ปัจจัยดังกล่าว นางสาวจิรภัทร์ กล่าวว่า “ในการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ต้องให้ความสำคัญกับหลากหลายมิติมากขึ้นแตกต่างจากในอดีต เป็นที่มาของ Hakuhodo ที่มีปรัชญาในการทำงานคือ เซคัตสิฉะ Sei-katsu-sha ซึ่งมาจากบริบทการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานสร้างแบรนด์และการตลาดในปัจจุบัน เราต้องเข้าใจมิติของผู้บริโภคในบริบทที่แตกต่างกัน อาทิ เวลาที่ทำการตลาดต้องทำการวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภค เราจะไม่สามารถถามว่า คุณชอบอาหารอะไรมากที่สุดเพียงมิติเดียว แต่ให้ถามว่า เวลาที่ไปทานอาหารกับครอบครัว กับภรรยา เขาไปทานร้านอาหารอะไร จะแตกต่างจากร้านที่เขาชอบที่สุดเวลาไปทานคนเดียว เพราะฉะนั้นเวลาที่มองผู้บริโภค ต้องมองในทุกมิติ วันนี้เราเชื่อว่ามีหลายแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนอาเซียนในอนาคต” นางสาวจิรภัทร์ กล่าว และเพิ่มเติมว่า
“ปัจจุบันอาเซียนมีประชากรเกือบ 700 ล้านคน ประมาณ 10% ของประชากรโลกเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากสถิติพบว่า การเติบโตของตัวเมืองเข้ามาอยู่ในอาเซียนมากกว่า 50% สะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในกลุ่มอาเซียนที่มี Slow Growth ของประชากร มีไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ที่มีอัตราการเกิดต่ำ แต่ยังมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่สมดุลคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สุดท้ายแล้วอาเซียนยังเติบโตด้วยคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่มีวิธีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้ง Gen Z และ Gen Alpha และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของคนในรุ่นอื่น ๆ ด้วย”