“เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก” เปิดประตูสู่ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของถนนวิทยุ ย้อนรอย 111 ปี สู่ความรุ่งเรืองแห่งปัจจุบันและอนาคต
วัน แบงค็อก แลนด์มาร์คระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ เปิดตัว เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก (The Wireless House One Bangkok) โครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงพร้อมจัดแสดงนิทรรศการถาวรบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ตั้งโครงการอันเป็นที่มาของชื่อ “ถนนวิทยุ” โดยนำเสนอประวัติศาสตร์ของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารให้ผู้มาเยือน วัน แบงค็อก ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้รากเหง้าอันทรงคุณค่า (Sense of Rootedness) ของพื้นที่ พร้อมเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงจากทุ่งนาในอดีต สู่ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน โดย วัน แบงค็อก และนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมืองที่เป็นต้นแบบแห่งอนาคต
จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า “วัน แบงค็อก ให้ความสำคัญและวางแนวทางในการผสานองค์ประกอบทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นโครงการ และตั้งใจรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พร้อมนำมาสืบสานต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ต่ออนาคต เราจึงได้รังสรรค์ “เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก” ขึ้น ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์และรากเหง้าของพื้นที่แห่งนี้ โดยเราได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและนักโบราณคดี เพื่อให้ที่นี่เป็น “หมุดหมายแรก” ที่จะต้อนรับทุกคนเข้าสู่ วัน แบงค็อก ให้ได้สัมผัสกับมิติทางประวัติศาตร์และศิลปวัฒนธรรมผ่านนิทรรศการถาวรที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของวิทยุโทรเลข ซึ่งเป็นการสื่อสารไร้สายในยุคเริ่มต้นของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในบริเวณพื้นที่ โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตรวมถึงประวัติความเป็นมา คุณค่า และความสำคัญของพื้นที่ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปสู่ศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ในอนาคต นำเสนอเรื่องราวผ่านเทคนิคที่ทันสมัย สร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม”
ไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงในเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของย่านวิทยุ-พระราม 4 และอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของความทันสมัยในอดีต
– โซน 1: ยุควิทยุโทรเลข นำเสนอความสำคัญของสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายของประเทศและนำพาความทันสมัยมาสู่ย่านแห่งนี้ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีฯ เทคโนโลยีวิทยุโทรเลข และการเชื่อมต่อกับยุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรก รวมถึงความแตกต่างระหว่างโทรเลขและวิทยุโทรเลข
– โซน 2: ยุควิทยุกระจายเสียง บอกเล่าเรื่องราวของสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงในฐานะหนึ่งในพื้นที่ทดลองการกระจายเสียงยุคแรก ๆ ของประเทศไทย แสดงพัฒนาการของการกระจายเสียง บรรยากาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการกระจายเสียงในยุคนั้น ซึ่งผู้ชมนิทรรศการจะได้ลองฟังเสียงประเภทต่าง ๆ ที่ออกอากาศในสมัยนั้น รวมถึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวิทยุแร่และวิทยุหลอด
– โซน 3: การขุดค้น อนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ก่อสร้างซึ่งมีคุณค่าในการสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตในช่วงเวลานั้น การสร้างอาคารที่สูญหายไปแล้วกลับขึ้นมาใหม่โดยอาศัยหลักฐานข้อมูลและ
องค์ความรู้ทั้งหมดเท่าที่มีมาบูรณาการร่วมกัน เช่น ผังอาคารที่ได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารสำรวจขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ภาพถ่ายเก่า ฯลฯ โดยนำเสนอข้อมูลเชิงโบราณคดีเมือง (Urban Archaeology) ขั้นตอนการขุดค้นและอนุรักษ์อาคารสถานีฯ พร้อมโมเดลอาคารเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก ที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิสังขรณ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลข ตั้งแต่การฝังกลบฐานอาคารเดิมเพื่อรักษาสภาพ การสร้างชั้นใต้ถุนสำหรับจัดเก็บโบราณวัตถุ และการใช้โครงสร้างสมัยใหม่ในการสร้างอาคารกลับคืนมาตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิม เป็นต้น
– โซน 4: ย่านวิทยุ – พระราม 4 อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต แสดงเรื่องราวพัฒนาการของย่านตั้งแต่ยุคทุ่งศาลาแดง ความเป็นสมัยใหม่ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่ นวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงศักยภาพในอนาคตของย่านที่จะยังคงความทันสมัยควบคู่ไปกับการเป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเมือง สถานที่น่าสนใจในย่าน และความทรงจำของผู้คนที่มีต่อย่านนี้ อีกทั้งยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะ PintONE จาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ขุดเจอในพื้นที่ เช่น ไหน้ำปลาและเศษกระเบื้องต่าง ๆ และผลงาน Greeting of Times จาก นักรบ มูลมานัส ที่นำภาพผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในย่านวิทยุ-พระราม 4 มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการตัดแปะหรือคอลลาจลงบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข